ฝ่ายความมั่นคงตั้งด่าน-ปิดถนน เพื่อสกัดไม่ให้คณะของ "ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ" ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ขณะที่ประชาชนอีกส่วนถามหา "สัญญาประชาคม" และ "ความรับผิดชอบในระยะยาว" จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หากคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเมืองอุตสาหกรรมแห่งใหม่
ศอ.บต. ใช้เวลาเกือบ 3 ชม. ในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (11 ก.ค.) โดยมีอยู่ 2 คนได้แสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่ โดยระบุว่า "ชาวบ้านแตกแยกกันมาก ต่างคนต่างนำเสนอข้อมูล ขอให้แตกแยกทางความคิด อย่าแตกแยกในหมู่พี่น้อง"
ประชาชนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นบนเวทีต่างเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความจริงใจในการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่ว่าจะเป็น ด้านที่อยู่อาศัย จากการถูกเวนคืนที่ดิน, ด้านอาชีพการงาน โดยเฉพาะการทำประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวจะนะราว 70-80% และการเพาะเลี้ยงนกเขาชวาซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลก รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเสียและอากาศเป็นพิษ พร้อมตั้งคำถามว่าหากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ใครจะเป็นเจ้าภาพรับประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
"นิคมที่จะเกิดขึ้นมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่คนที่มาวันนี้ต่างต้องการผลประโยชน์กันทั้งนั้น จึงอยากให้มีการทำสัญญาว่าเราจะได้ผลประโยชน์ตรงไหน ลูกหลานจะมีงานทำจริงไหม เพราะถ้าสร้างไปแล้ว ประชาชนจะไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรได้อีกเลย" หญิงชาวจะนะผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อ แต่ออกตัวว่าไม่ใช่ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านโครงการ กล่าว
นายกอเสม สะเม๊าะ ชาวประมง ต.ตลิ่งชัน เป็นอีกคนที่เรียกร้องให้ภาครัฐและภาคเอกชนแสดงความจริงใจในการดูแลประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วยการจัดทำเป็นหนังสือสัญญา และจัดให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างแท้จริง ไม่ใช่ "เวียนเทียน" ไปศึกษาและรับฟังคนบางกลุ่มเท่านั้น
ส่วนนายสงัด ชาว ต. ตลิ่งชัน เสนอให้ตั้งคณะทำงานภาคประชาชน 3 ต. ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายไว้คอยเจรจาต่อรองกับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าหากคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบจะนะเกษียณอายุในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ใครจะคอยติดตามเรื่องราวให้ประชาชน อีกทั้งยังเรียกร้องให้สร้าง รพ.แห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่ เนื่องจาก รพ.จะนะ เพียงแห่งเดียวไม่เพียงพอต่อการให้บริการในปัจจุบันและในอนาคตที่จะมีแรงงานนับแสนคนในนิคมอุตสาหกรรม
"ขอให้โครงการนี้ดำเนินการไปอย่างเรียบร้อย และให้ตามที่พูดไว้กับประชาชน อย่าให้พวกเราเดือดร้อน ต้องตามมาประท้วง ปิดถนนกันภายหลังแบบที่เป็นมาแล้วในอดีต" นายสงัดกล่าว
ชาวบ้านติงปล่อย ทีพีไอ-ไออาร์พีซี ร่ายแผนลงทุน แต่ไม่ฉายผลกระทบ
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุ่มงบประมาณ 18,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนา อ.จะนะ ให้เป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" วางแผนเปลี่ยนพื้นที่ 16,753 ไร่ใน ต.นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยถือเป็นการขยายผลเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จากเดิมที่มี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา
ในช่วงต้นของกิจกรรม ศอ.บต. ได้เปิดให้ผู้บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ และ บมจ.ไออาร์พีซี นำเสนอแผนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยโครงการสำคัญที่ถูกพูดถึง อาทิ สวนอุตสาหกรรม, เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้), ท่าเรือน้ำลึกสงขลา, โรงไฟฟ้าสะอาด และศูนย์รวมและกระจายสินค้า
นายธีรพงศ์ ดนสวี ชาว ต.ตลิ่งชัน ให้ความเห็นว่าภาคเอกชนได้พูดถึงแต่แผนงานโครงการว่าจะทำอะไร แต่พูดถึงผลกระทบน้อย จึงอยากให้นำข้อมูลทางวิชาการมาดูทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนใน 3 ต. นี้ พร้อมชี้แจงว่าได้เตรียมการรองรับอย่างไรเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
"เมืองจะนะคือเมืองหลวงนกเขาชวา อย่าให้นกเขาหายไปจากเมืองเรา" และ "ชาวบ้านจะอยู่ได้ไหมถ้ามีผลกระทบ กูโบร์ (หลุมฝังศพชาวมุสลิม) หลายแห่งที่มีอยู่ จะดูแลบรรพบุรุษของเราอย่างไร ขอฝากให้ทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน" นายธีรพงศ์กล่าว
รัฐบาลคาดการณ์ว่าการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะก่อให้เกิดการจ้างงาน 1 แสนอัตรา และมีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ 36,000 ล้านบาท ซึ่งประชาชนผู้มาร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นต่างสนับสนุนประเด็นนี้ เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกหลานในพื้นที่ รวมถึงหญิงหม้ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีงานทำ แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อเสนอแนะบางส่วนไปยังภาคเอกชน
นายประสงค์ ปลื้มสงค์ ชาว ต. นาทับ เสนอให้ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ และ บมจ.ไออาร์พีซี รับนักศึกษาชาวจะนะซึ่งจบในสาขาที่ตรงกับสายงานของบริษัทเข้าไปทำงานที่ท่าเรือ จ.ระยอง เพื่อสั่งสมประสบการณ์ก่อน โดยไม่ต้องรอจนท่าเรือน้ำลึกสงขลาเกิดขึ้นแล้ว เพราะจะไม่ทันต่อสถานการณ์
ผู้สูงอายุใช้เวทีมอบเพลงให้ ตชด. แต่ฝ่ายค้านโครงการถูกสกัดไม่ให้เข้าพื้นที่
เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกจัดขึ้นแบบคู่ขนาน 2 เวที โดยเวทีแรกจัดที่หอประชุม รร.จะนะวิทยา ต.สะกอม มี ศอ.บต. เป็นเจ้าภาพ อีกเวทีจัดที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตลิ่งชัน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และท้องถิ่น ร่วมกันรับผิดชอบ โดยมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมราว 1 พันคน ขณะเดียวกันมีการถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ "ข่าว ศอ.บต." และ "คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบจะนะ" ทว่ามีผู้ติดตามรับชมแบบสด ๆ ใน 2 เพจรวมกันไม่ถึง 100 คน
ผู้จัดการเวทีกำหนดกติกาให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นคนละ 3 นาที และกล่าวเน้นย้ำเป็นระยะ ๆ ว่า "ทั้งหมดที่พูดมาจะถูกบันทึก" โดยมีประชาชนเพียง 18 คนได้ร่วมออกความคิดเห็น ทว่าบางส่วนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะเสียทีเดียว แต่เป็นการร้องขอความช่วยเหลือในประเด็นอื่น ๆ อาทิ ขออาหารกลางวันให้โรงเรียนเด็กเล็ก (ตาดีกา), ขอให้เร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน, ขอให้ดูแลผู้สูงอายุเวลาเจ็บไข้ นอกจากนี้ยังมีหญิงชาว ต.สะกอม วัย 73 ปี ได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งร้องเพลงด้วย
"ตชค. ย่อมาจากตำรวจชายแดน น้องเอ๋ยลำบากเหลือแสน มาอยู่ชายแดนที่ไกลแสนไกล..." มะหลอ บินสัน ตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุ ต.สะกอม ฮัมเพลง "ตชด. ขอร้อง" ของ สันติ ดวงสว่าง ท่ามกลางเสียงกรี๊ดของประชาชนรายอื่น ๆ
ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในทั้ง 2 เวที เนื่องจากฝ่ายรัฐโดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (บช.ภ. 9) ได้ระดมกำลังนับพันนายเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยของพื้นที่โดยรอบ มีการตั้งจุดตรวจสกัดและคัดกรองบุคคล ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านหน้า รร.จะนะวิทยา พวกเขาจึงหันไปแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการในพื้นที่อื่น ๆ แทน
"เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ซัด ศอ.บต. จัด "พิธีกรรม"
กลุ่มเยาวชนที่เรียกตัวเองว่า "สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี PerMAS" นำโดยนายอับดุลเลาะ หะยีสาแม เลขาธิการสหพันธ์ฯ ได้อ่านแถลงการณ์ 3 ข้อบริเวณหน้า ศอ.บต. เรียกร้องให้ 1. ยกเลิกโครงการที่ไม่ชอบธรรม เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง 2. ยุติเวทีในวันที่ 11 ก.ค. เพราะประชาชนไม่สามารถแสดงออกได้อย่างปลอดภัยภายใต้ "กฎหมายพิเศษ" และ 3. ให้กองทัพออกจากผลประโยชน์และไม่ยุ่งเกี่ยวกับโครงการนี้
ส่วนประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" รวมถึง น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ผู้เรียกตัวเองว่า "ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ" ได้รวมตัวกันที่หาดสวนกง ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังเวทีของ ศอ.บต. แต่ถูกตำรวจสกัดที่แยกนกเขา จึงต้องอ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการจากจุดนั้น โดยระบุว่า เวทีที่ ศอ.บต. พยายามจัดในวันนี้เป็น "พิธีกรรม" หนึ่งที่สร้างขึ้นเพียงเพื่อต้องการความชอบธรรมให้กับโครงการ พร้อมเรียกร้องให้ชาวจะนะและประชาชนทั่วไปร่วมกันแสดงจุดยืนเพื่อยุติความไม่ชอบธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากวิธีการดำเนินโครงการนี้
"โครงการนี้ได้รับอภิสิทธิ์พิเศษที่แตกต่างกว่าทุกโครงการที่ผ่านมา คือรัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อน แล้วมารับฟังความคิดเห็นตามหลัง ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่พวกเราไม่สามารถยอมรับได้ วาทกรรม 'การมีส่วนร่วมของประชาชน' ในมุมมองของ ศอ.บต. คงมีความหมายเฉพาะที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนฉบับต่าง ๆ ของรัฐไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินขององค์กรนี้ จึงไม่แปลกที่การปิดกั้น การขัดขวาง การข่มขู่คุกคาม การให้ร้ายป้ายสีต่าง ๆ กับพวกเรา จึงกลายเป็นเรื่องปกติของ ศอ.บต. ที่กำลังดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการนี้" น.ส.ไครียะห์อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ น.ส.ไครียะห์กับพวก ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ 10 วัน และได้ตระเวนไปตามสถานที่สำคัญหลายแห่ง หวังส่งเสียงให้ถึง "ผู้มีอำนาจในส่วนกลาง" ในจำนวนนี้คือการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประธาน เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. โดยอ้างว่าพบ "ความบกพร่อง" และ "ความไม่ปกติ"
ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. วันนี้ นายปดิพัทธ์จึงเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยและกล่าวกับประชาชนว่าเวลาเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมย่อมมีทั้งฝันดีและฝันร้าย ส่วนตัวคิดว่าเราไม่ต้องการทั้งฝันดีและฝันร้าย แต่ต้องการความจริง ข้อมูลที่ครบถ้วน และผลกระทบที่จะได้รับทั้งในเชิงบวกและลบ
"การลงทุนเกิดขึ้นในเวลา 5 ปี แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับเราอาจอยู่ถึง 10, 20, 30 ปี หลายครั้งการลงทุนในไทยและทั่วโลก ผลกระทบมันเกิดขึ้นหลังจากนั้น ดังนั้นอาจต้องมีการออกแบบกลไกภาคประชาชนที่ดีและยั่งยืน เช่น สภาพลเมือง ขึ้นมาตรวจสอบสิ่งที่จะเกิดขึ้น" ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ให้ความเห็น
คำมั่นสัญญาจากรองเลขาธิการ ศอ.บต.
ในช่วงท้ายของการเปิดเวที นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้ลุกขึ้นชี้แจ้งข้อมูลกับประชาชน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
- การชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก : วันนั้นเรารับปากที่ 7.5 หมื่นบาท เป็นการประกันขั้นต่ำ เชื่อว่าตัวเลขจะขยับขึ้นอีก
- การให้ทุนการศึกษาและการจ้างงานเยาวชนในพื้นที่ : โครงการทั้งหมดจะไม่เกิดประโยชน์เลยหากไม่มีพี่น้องในพื้นที่เข้าสู่ระบบแรงงาน ซึ่งได้มอบหมายให้ทีมไปวางแผนเรื่องการสร้างคนผ่านระบบการศึกษาเพื่อให้เกิดความมั่นคงตั้งแต่ระดับมัธยมถึงระดับปริญญา โดยให้เรียนให้ตรงกับตลาดแรงงาน
- การดูแลด้านสาธาธาณสุข : จะพัฒนา รพ. 4 แห่งใน จ.สงขลา ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์แต่ละด้าน เช่น รพ.จะนะ ต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านทางเดินหายใจ และเป็นเลิศด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย, รพ.สะเดา เป็นเลิศด้านการผ่าตัดและอุบัติเหตุ, รพ.สะบ้าย้อย เป็นเลิศด้านการพยาบาลด้านอายุรกรรม และ รพ.นาทวี เป็นเลิศด้านสุขภาวะชุมชน
- การสร้างพหุสังคมที่เข้มแข็ง : ในส่วนของชาวมุสลิม จะดูแลการทำงานและงบประมาณผ่านโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด โดยบรรจุลงกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ส่วน รร.ตาตีกา ได้ประสานกับ บมจ.ทีพีไอแล้วว่าจะจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศให้เด็ก ๆ โดยพิจารณาจากเยาวชนที่มีศักยภาพพัฒนาได้ในส่วนที่สอดคล้องกับความต้องการภาคเอกชนและภาคราชการ ส่วนชาวพุทธ จะส่งเสริมให้มี รร. สอนศาสนาเช่นกัน
"ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอ หากรัฐไม่ทำ ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ" และ "ทุกประโยชน์ทุกความสุขของโครงการอยู่ที่ประชาชน ถ้าทำไม่ได้ โครงการก็ไม่น่าจะเดินหน้าต่อ" รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
"ที่มา" - Google News
July 11, 2020 at 04:03PM
https://ift.tt/327Mcvd
จะนะ : “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ถูกสกัดไม่ให้ร่วมเวทีผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะที่ชาวบ้านถามหา “สัญญาประชาคม” จาก ศอ.บต. - บีบีซีไทย
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment