ทัตเทพ เรืองประไพกิจ เลขาธิการกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเยาวชนปลดแอกหรือกลุ่ม FreeYOUTH ได้นอนแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเขาและเพื่อน ตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 18 ก.ค. ก่อนจะตื่นมาเคลื่อนไหวต่อทางออนไลน์ด้วยการประกาศทางหน้าเฟซบุ๊กของกลุ่มช่วงเช้าวันนี้ (19 ก.ค.) ว่า "มันจะไม่จบแค่นี้"
การชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้สร้างความแปลกใจให้กับคนจำนวนหนึ่งเมื่อมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากจนเต็มพื้นที่รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง ขณะที่แฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก พุ่งติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย มีผู้ทวีตถึง 3 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมง ขณะที่แฮชแท็ก #ให้มันจบที่รุ่นเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เยาวชนที่ขึ้นปราศรัยกล่าวย้ำอยู่หลายครั้งระหว่างการชุมนุม ตามมาเป็นอันดับ 2
กลุ่มเยาวชนปลดแอกโพสต์เฟซบุ๊กนัดหมายชุมนุมไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่นายภาณุพงศ์ จาดนอกและนายณัฐชนน พยัฆพันธ์ สมาชิกกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยถูกตำรวจควบคุมตัวและตั้งข้อหาจากการถือป้ายประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะลงพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 15 ก.ค.
"ทนกันพอหรือยัง 18 กรกฎาคมนี้เจอกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดีไหม" กลุ่มเยาวชนปลดแอกโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเป็นการ "โยนหินถามทาง" ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะยืนยันนัดหมายชุมนุมด้วยข้อความ "เอาจริง 17:00 น. ใครไม่ทนให้ไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย!!"
แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอกให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยวันนี้ (19 ก.ค.) ถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดโควิด-19 และการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อสงสัยบางประการต่อการจัดการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา
ทำไมถึงตัดสินใจยุติการชุมนุมก่อนกำหนด
กลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท. ประกาศว่าจะชุมนุมไปจนถึงเวลา 08.00 น. ของวันที่ 19 ก.ค. โดยจะปิดท้ายด้วยกิจกรรม "ปลุกรัฐบาล" แต่หลังจากเกิดความวุ่นวายและชุลมุนเล็กน้อยช่วงกลางดึก แกนนำก็ได้ประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 23.00 น.
นายทัตเทพบอกกับบีบีซีไทยถึงเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าวว่าเพราะ "มีความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง" กล่าวคือ เหตุการณ์ที่มีคนนำถุงดำไปคลุมกล้องวงจรปิดบริเวณที่ชุมนุม นอกจากนี้แกนนำยังได้รับแจ้งว่ามีคนเห็นบุคคลไม่ทราบฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์บนอาคารใน ร.ร.สตรีวิทยา
"เราไม่มั่นใจว่าเกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือว่าเป็นฝ่ายใด มันมีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างเราก็เลยตัดสินใจว่าควรยุติการชุมนุม เพราะเรามีเวลาเตรียมการชุมนุมค่อนข้างน้อย ทีมงานเราก็มีน้อยเพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมได้อย่างเต็มที่"
เขายืนยันว่าทางกลุ่มคิดว่าจะปักหลักค้างคืนมาตั้งแต่แรก และ "ความไม่ชอบมาพากล" ที่เกิดขึ้นจนต้องตัดสินใจยุติการชุมนุมในเวลาเที่ยงคืนนั้น "เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาคดิดมาก่อน"
"เราคิดว่าเราอยู่ในดงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยให้เรา แต่ความไม่ชอบมาพากลนี้ไม่รู้ว่ามาจากฝั่งไหน เราจึงรู้สึกไม่ปลอดภัยแม้จะอยู่ท่ามกลางตำรวจ"
แปลกใจหรือไม่ที่มีคนมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก
"ไม่แปลกใจ" คือคำตอบของนายทัตเทพ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก่อนการชุมนุมเขาคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมราว 2,000 คน ขณะที่เพื่อนบางคนประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมถึง 5,000 คน ดังนั้นจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันจริงจึงเป็นไปตามที่คาดไว้
"ไม่แปลกใจที่คนมาเยอะ เพราะมันมีความอึดอัดกับสภาพบ้านเมือง ความไม่เป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่พังพินาศ พอคนอึดอัดก็เลยอยากออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเรา คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่จึงได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมาก"
ใครเป็นคนจัดเตรียมสถานที่ เครื่องเสียง การถ่ายทอดสดออนไลน์
"ทีมงานเรามีประมาณ 20 กว่าคน แต่คนที่ตัดสินใจในสถานการณ์เฉพาะหน้ามีกันไม่กี่คน" นายทัตเทพเล่าเบื้องหลังการทำงาน
เขาบอกว่านอกจากสมาชิกกลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท.แล้ว ยังมี "รุ่นพี่นักกิจกรรมทางการเมือง" บางคนมาช่วยเรื่องการติดตั้งเครื่องเสียงและดูแลเรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ
"อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้ส่วนหนึ่งขอยืมมาจากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (RDG) ส่วนเต็นท์เราซื้อใหม่ราคา 3,000 บาท แต่ตอนนี้ถูกตำรวจยึดไปแล้ว เราพยายาขอสุขาเคลื่อนที่ไปที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ผู้ชุมนุมก็เลยต้องไปใช้ที่ร้านแมคโดนัลด์กัน"
เงินที่ใช้จ่ายในการชุมนุมมาจากไหน
เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอกบอกว่าค่าใช้จ่ายในการจัดการชุมนุมครั้งนี้ "มีไม่มาก" อุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นของที่ทางกลุ่มมีอยู่แล้ว ส่วนเงินที่ใช้เป็นเงินที่ได้มาจากการระดมทุนด้วยการขายเสื้อยืด
"ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเรามีเงินเก็บจากการระดมทุนด้วยการขายเสื้อประมาณ 1 แสนกว่าบาท เงินจากการขายเสื้อล้วน ๆ เลยครับ"
มีนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองให้การสนับสนุนหรือไม่
"กลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองไม่ได้ออกมาสนับสนุนโดยตรง แต่เขาแจ้งมาว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือในการประกันตัวหากพวกเราถูกดำเนินคดี มี ส.ส.ที่ยินดีจะใช้ตำแหน่งเป็นประกัน แล้วก็มี ส.ส.บางคนที่ส่งเรากลับที่พักหลังยุติการชุมนุมเพื่อให้แน่ใจว่าเราปลอดภัยระหว่างการเดินทาง" นายทัตเทพกล่าว
เขาบอกว่าขณะนี้ยังไม่มีตำรวจติดต่อหรือมีหมายเรียกมาที่บ้าน
"แต่คาดว่าน่าจะมีหมายเรียกมาแน่นอน คงต้องใช้เวลาในการรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ผมเชื่อว่าคงโดน 3-4 ข้อหา แต่ผมก็พร้อม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็บอกว่าเขาพร้อมเตรียมทนายไว้ให้"
บีบีซีไทยพยายามติดต่อนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลเพื่อสอบถามถึงการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลหลังการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ปฏิกิริยาจากปารีณา-มารีญา
น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นนักการเมืองที่ออกมาวิจารณ์การชุมนุมของนักศึกษาอย่างเผ็ดร้อน เธอโพสต์เฟซบุ๊กตั้งแต่ช่วงเช้าโดยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และ สนท. ที่เธอบอกว่า "ฟังไม่ขึ้น" ก่อนที่ในช่วงบ่ายเธอจะโพสต์ข้อความกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของนักศึกษา
"คือ.. มันจะตาย!!!!!!! ไหม เพราะเพียงแค่อีก 2 ปีครึ่ง ก็จะมีการ #เลือกตั้ง ทั่วประเทศ ซึ่งเราเพิ่งจะผ่านการ #เลือกตั้ง ได้ 1 ปีครึ่ง จึงฝากผู้ที่ชอบอ้างตนว่าเป็นนักประชาธิปไตยมีขี้แพ้หนุนหลังทุกท่านให้รออีกซักนิด ได้ #เลือกตั้ง แน่" ส.ส. ราชบุรีโพสต์แสดงความรู้สึกต่อข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่ให้ยุบสภา
ส่วนข้อเรียกร้องให้หยุคคุกคามประชาชนนั้น ส.ส.พลังประชารัฐยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการคุกคามประชาชน "อย่ามาใส่ร้ายผู้อื่นลอย ๆ" เธอระบุ
ข้อเรียกร้องเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ น.ส.ปารีณาบอกว่ารัฐสภากำลังแก้ไขอยู่ "คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ค่ะ"
น.ส.ปารีณาบอกว่ากลุ่มผู้ชุมนุม "กำลังทำลายบ้านเมืองที่สงบ กำลังทำให้ต่างประเทศไม่อยากมาเที่ยวประเทศไทย กำลังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน" พร้อมกับติดแฮชแท็กให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์
ทางด้านมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาเมื่อต้นปีด้วยการออกมาสนับสนุนกิจกรรมแฟลชม็อบของนักศึกษา และเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาได้โพสต์ข้อความเรียกร้องความยุติธรรมให้นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกทำให้สูญหายไปในประเทศกัมพูชา ก็ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นกัน
"ฉันอยากอยู่ที่นั่นด้วย" เธอโพสต์ข้อความในอินสตาแกรมพร้อมรูปภาพผู้ชุมนุมเปิดไฟจากโทรศัพท์มือถือส่องไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หนึ่งในกิจกรรมในการชุมนุมเมื่อวานนี้
"ขอให้ทุกคนปลอดภัยนะคะ ใครไม่สบายของให้อยู่บ้าน ส่วนใครที่ออกไปอย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยด้วย" เธอเขียน พร้อมใส่แฮชแท็กเป็นภาษาอังกฤษว่า "ประเทศไทย" "การเปลี่ยนแปลง" และ "การชุมนุมโดยสันติ"
"ที่มา" - Google News
July 19, 2020 at 12:44PM
https://ift.tt/3fDyKTA
เยาวชนปลดแอก: กลุ่ม FreeYOUTH ลั่น "มันจะไม่จบแค่นี้" แกนนำพร้อมถูกดำเนินคดีหากมีหมายเรียก - บีบีซีไทย
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment