Pages

Sunday, August 16, 2020

นางฟ้าน้อย “มาเรียม” กับ 111 วันแห่งความทรงจำ สู่ “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” - ผู้จัดการออนไลน์

kerisasakti.blogspot.com

ภาพ “กอด” แสดงความรักต่างสายพันธุ์ โดยศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ที่คว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยมจากงาน POY77
ช่วงดึกของวันที่ 17 สิงหาคม 2562 บ้านเรามีข่าวให้ชวนเศร้าใจ เมื่อ “มาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจชาวไทยต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร ซึ่งภายหลังทางทีมสัตวแพทย์ได้ผ่าชันสูตรซากมาเรียม พบว่ามีเศษพลาสติกอุดตันในลำไส้ใหญ่อันเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของมาเรียม

และเพื่อรำลึก 1 ปีต่อการจากไปของน้องมาเรียม เราขอนำ 10 เรื่องราวแห่งความทรงจำของลูกพะยูนน้อยตัวนี้ มาบอกเล่ากันอีกครั้ง

น้องมาเรียม มาเกยตื้นที่อ่าวทึง (ภาพ : อช.หาดนพรัตน์ธารา- หมู่เกาะพีพี )
1.รักแรกพบ : วันที่ 26 เม.ย. 62 มีการพบเจอลูกพะยูนน้อย มาเกยตื้นตัวเดี่ยวโดด ๆ ที่อ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อมีการตรวจสอบทราบว่าเป็นพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 4-5 เดือน แม้ชาวบ้านที่กระบี่จะนำลูกพะยูนน้อยตัวนี้ไปปล่อยคืนทะเล แต่ก็เห็นมันกลับมาว่ายเวียนป้วนเปี้ยนที่เดิมอีก จึงคาดว่าคงผลัดหลงจากแม่มาอยู่ที่บริเวณทะเลแถบนี้

เจ้าหน้าที่นำน้องมาเรียมที่มาเกยตื้นไปดูแล (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
2.พะยูนน้อยกับทางที่ต้องเลือก : เมื่อพะยูนน้อยผลัดหลงกับแม่ จากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เห็นว่าหากปล่อยมันไปตามธรรมชาติคงจะไม่รอดแน่ ทางเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำพะยูนน้อยมาอนุบาล ซึ่งมี 2 แนวทางให้เลือก หนึ่งนั้นเลี้ยงอนุบาลในบ่อ และมันจะต้องอาศัยอยู่ในบ่อตลอดไปจนตาย เพราะไม่สามารถออกทะเลใหญ่ได้ กับอีกแนวทางหนึ่งคือเลี้ยงดูในสภาพธรรมชาติ ท่ามกลางการเฝ้าดูแลประคบประหงมของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยงานนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เลือกใช้แนวทางที่สองในการวิธีอนุบาลเจ้าพะยูนน้อยตัวนี้

เขตห้ามล่าฯ เกาะลิบง (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
3.ย้ายสำมะโนครัว : ทางเจ้าหน้าที่จึงได้นำลูกพะยูนตัวนี้ไปอนุบาล บริเวณบ้านแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลอาหารของพะยูน และเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพะยูนมากที่สุดในเมืองไทย

4.ชีวิตใหม่ในชื่อมาเรียม : หลังเจ้าหน้าที่ย้ายพะยูนน้อยมาอยู่ที่เกาะลิบงก็ได้ตั้งชื่อให้ลูกพะยูนตัวนี้ว่า “มาเรียม” ที่แปลว่า “หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล” ขณะที่หลาย ๆ คนต่างยกให้มาเรียมเป็น “นางฟ้าน้อย” แห่งท้องทะเล

มาเรียมหลับใหลในอ้อมกอดพี่เลี้ยง (ภาพ : หาญนเรศ หริพ่าย, ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย)
5.มาเรียมฟีเวอร์ : หลังลูกพะยูนน้อยมีชื่อเรียกขาน เรื่องราวของชีวิตเธอ (และพี่เลี้ยง) ก็ได้ปรากฏให้คนทั่วไปได้รับรู้ ก่อนจะโด่งดังไปทั่วฟ้าเมืองไทย จนน้องมาเรียมกลายเป็นขวัญใจชาวเน็ตที่มีแฟนคลับจำนวนมากมาดูความน่ารักของน้องไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ กินนม เกยตื้น หรือหลับปุ๋ยในอ้อมอกของมนุษย์

นอกจากนี้หลาย ๆ คนยังเดินทางไปชมความน่ารักของน้องมาเรียมถึงสถานที่จริงกันเลยทีเดียว ซึ่งทั้งแฟนคลับและกองเชียร์ต่างเอาใจช่วยให้น้องมาเรียมมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมกับหวังว่าอีกไม่นานลูกพะยูนน้อยตัวนี้จะได้มีโอกาสกลับสู่ท้องทะเลใหญ่ ไปแหวกว่ายร่วมกับบรรดาฝูงพี่ ป้า น้า อา เหล่าพะยูนเหล่านี้ หรือหากโชคดีอาจมีโอกาสได้พบหน้ากับแม่หรือครอบครัวของน้องก็เป็นได้

อบอุ่นในอ้อมกอดของแม่คน (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
6.ลูกพะยูน-แม่เป็นคน : ในการอนุบาลน้องมาเรียมก่อนปล่อยคืนสู่ทะเลใหญ่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกพะยูนตัวนี้จะต้องมีคนมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชม. คอยป้อนนมทุกวัน (1-2 ลิตร/วัน) พร้อมพาฝึกว่ายน้ำออกกำลังกาย รวมถึงต้องช่วยนำน้องกลับลงน้ำยามเมื่อว่ายน้ำมาเกยตื้นที่ชายหาด (น้องชอบว่ายน้ำมาเกยตื้นที่ชายหาด เนื่องจากไม่มีแม่ว่ายนำทาง)

นั่นจึงทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งต้องเสียสละตัว (อย่างมาก) เพื่อมาคอยดูแลน้องมาเรียม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ฯลิบง สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง รวมถึงอาสาสมัครต่าง ๆ ต่างพากันอุทิศตนมาเป็น “แม่” ของน้องมาเรียม ทั้งแม่นม แม่บุญธรรม และ พี่เลี้ยง นับเป็นลูกพะยูนตัวแรกในเมืองไทย ที่มีแม่เป็นคนคอยดูแลเลี้ยงจริงในทะเล ซึ่งต้องขอคารวะในหัวใจของเหล่าบรรดาผู้เสียสละเหล่านี้

เจ้าหน้าที่ดูแลมาเรียมอย่างใกล้ชิด (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
นอกจากนี้หลังมาเรียมจากไป ภาพ “กอด” ผลงานของ “ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย” ช่างภาพสายอนุรักษ์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักต่างสายพันธุ์ ระหว่างคนกับพะยูนน้อย กับภาพลูกพะยูนกำพร้ากับท่าทางน่าเอ็นดูอยู่ในอ้อมกอดของทีมงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นั้น ได้สร้างความประทับใจเข้าตากรรมการจนสามารถคว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยมจากงาน POY77 ซึ่งเป็นงานประกวดภาพถ่ายของช่างภาพอาชีพและสื่อมวลชนในระดับโลก ของ reynolds journalism institute ซึ่งจัดติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 77



7.แม่ส้ม : นอกจากแม่ที่เป็นมนุษย์แล้ว น้องมาเรียมยังติดเรือแคนูสีส้มที่พี่เลี้ยงคอยพาย ฝึกมาเรียมให้ว่ายน้ำให้แข็ง และเฝ้าดูแลมาเรียมอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาเรียมมีความผูกพันกับเรือแคนูลำนี้เป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่มาของ “แม่ส้ม” อีกหนึ่งแม่ที่น้องมาเรียมผูกพันเป็นอย่างยิ่ง

มาเรียมว่ายคลอเคลียไปกับแม่ส้ม (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
ภาพน้องมาเรียมว่ายน้ำไปคลอเคล้าใต้ท้อง (เรือ) แม่ส้ม ไปซุกนอนหลับ ไปแอบ ไปเล่น ด้วยเข้าใจว่านี่คือแม่ของตนเองนั้น คือภาพความประทับใจที่เรียกน้ำตาให้กับผู้พบเห็นได้เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้เรื่องราวของมาเรียม-แม่ส้มยังทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องทึ่งกับสายใยความรักระหว่างแม่-ลูกคู่นี้ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งการฉีกปรากฏการณ์ความรักแห่งบรรณพิภพ

เป็นความรักฉันท์แม่-ลูกที่เกิดขึ้นระหว่าง “สิ่งมีชีวิต” กับ “สิ่งไม่มีชีวิต” ที่ผูกพันลึกซึ้ง และบริสุทธิ์งดงามกระไรปานนั้น

เจ้าหน้าที่ดูแลมาเรียมยามเจ็บป่วย (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
8.เจ็บป่วย : ท่ามกลางสีสันเรื่องราวความน่ารักของน้องมาเรียมที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จู่ ๆ ก็มีสัญญาณไม่ดีเกิดขึ้นเมื่อมีพะยูนจากภายนอกเข้ามาคุกคามน้องมาเรียม จนลูกพะยูนน้อยช็อคและเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 62 ทำให้น้องมาเรียมมีอาการซึมไป ไม่กินอาหาร มีอาการอ่อนเพลีย ไม่เริงร่าว่ายน้ำแข็งขันกับแม่ส้มเหมือนแต่ก่อน ซึ่งเหล่าบรรดาพี่เลี้ยงก็หาได้นิ่งนอนใจไม่ เฝ้าดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของมาเรียมอย่างใกล้ชิด

กระทั่งสุดท้ายแล้วต้องทำการ ย้ายน้องมาเรียมจากทะเลขึ้นมาบนฝั่ง เพื่อนำขึ้นไปรักษาอาการป่วยในบ่ออนุบาลชั่วคราวบนเกาะลิบง พร้อมมีทีมแพทย์และพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด

ขณะที่คนไทยจำนวนมากก็เฝ้าติดตามอาการป่วยของน้องมาเรียมผ่านทางโซเชียล พร้อมกับภาวนาให้ลูกพะยูนน้อยหายป่วยโดยไว เพื่อที่จะได้กลับลงทะเลไปแหวกว่ายสร้างความน่ารักเรียกรอยยิ้มให้ผู้ที่พบเห็นเหมือนเช่นดังเดิมอีก

มาเรียมกายจากไป แต่ชื่อของเธอยังคงอยู่ (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
9.ลาก่อนมาเรียม : 00.09 น. ของค่ำคืนวันที่ 18 ส.ค. (รอยต่อคืน 17-18 ส.ค.) มีข่าวร้าย ข่าวเศร้า ที่ช็อกความรู้ของใครหลาย ๆ คน เมื่อทางเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ข้อความสุดสะเทือนใจว่า

..."หลับให้สบายนะ น้องมาเรียม เจ้านางฟ้าตัวน้อย”

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ กรม ทช. ขอแจ้งข่าวร้ายว่า น้องมาเรียม ได้จากพวกเราไปแล้ว ทีมแพทย์พบว่าน้องมาเรียม หยุดหายใจ และไม่เจอชีพจร จึงรีบนำขึ้นจากน้ำรอบแรก กระตุ้นหายใจ พบมีการตอบสนอง ตายังตอบสนอง จึงเอาลงบ่อ จากนั้นตรวจชีพจรซ้ำ แต่ไม่เจอชีพจรอีก จึงฉีดยาช่วยชีวิต และเอาขึ้นจากบ่อรอบที่ ๒ จนกระทั่งเวลา ๐๐.๐๙ น. น้องได้จากพวกเราไปอย่างสงบแล้วครับ...

ลาก่อนมาเรียม น้องจากไปแต่ยังอยู่ในความทรงจำ (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ทั้งนี้จากการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียม พบว่าลูกพะยูนน้อยเสียชีวิตจากเศษพลาสติกเล็ก ๆ หลายชิ้นขวางลำไส้จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ จนทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง และลุกลามไปถึงขั้น ช็อคเสียชีวิตในที่สุด

แน่นอนว่าขยะพลาสติกในทะเลอันนำไปสู่การเสียชีวิตของน้องมาเรียมและสัตว์ทะเลอื่น ๆ อีกมากมาย ต้นเหตุนั้นก็มาจากน้ำมือของมนุษย์เรานี่เอง!?!


10.ปลุกกระแสอนุรักษ์ : 111 วัน เป็นจำนวนวันที่พบน้องมาเรียมจนกระทั่งลูกพะยูนน้อยเสียชีวิต ซึ่งนอกจากเรื่องราวความน่ารักแสนซนของมาเรียมแล้ว การจากไปของน้องได้ปลุกกระแสอนุรักษ์ในสังคมไทยให้ตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ก่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องของการอนุรักษ์ทะเล อนุรักษ์พะยูน อนุรักษ์สัตว์ อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นวงกว้างกว่าเดิม

17 สิงหาคม วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังมีการผลักดันเรื่อง “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” โดยการนำเรื่องราวของมาเรียมมาถอดบทเรียน รวมถึงทางการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” โดยมีแผนในการอนุรักษ์คุ้มครองพะยูนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

และนี่ก็คือเรื่องราวของน้องมาเรียมผู้น่ารัก ที่วันนี้แม้ลูกพะยูนน้อยจะจากเราไป (ครบรอบ 1 ปี) แต่เรื่องราวของเธอยังดำรงคงอยู่ และชื่อ “มาเรียม” ก็ยังคงเป็นที่จดจำและอยู่ในดวงใจของใครหลาย ๆ คนไปอีกนานเท่านาน...

Let's block ads! (Why?)



"ที่มา" - Google News
August 16, 2020 at 05:08PM
https://ift.tt/2Y0OaKX

นางฟ้าน้อย “มาเรียม” กับ 111 วันแห่งความทรงจำ สู่ “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” - ผู้จัดการออนไลน์
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi

No comments:

Post a Comment