คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกับพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ถ้ามองดูผิวเผินจะเห็น “ความน่าโล่งอก” เพราะการลดน้อยถอยลงของเหตุร้ายรายวันจากฝีมือ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพิ่งจะมีเพียง 2-3 เหตุการณ์ แถมยังเป็นเหตุเล็กๆ ที่ส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยมาก
ขณะที่สถานการณ์ช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาดได้ขับเน้นให้ “งานมวลชน” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ดูดีขึ้นมากจากยุทธวิธีต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งน่าจะ “ได้ใจ” ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มักทำตัวเป็น “จ่าเฉย” ให้หันมาเทใจกับฝ่ายเจ้าหน้าที่มากขึ้น ส่วนมวลชนของ บีอาร์เอ็น ก็ปล่อยไป และไปว่ากันในวิธีการอื่นๆ
แต่ถ้ามองให้ลึกลงในแนวดิ่งก็จะพบว่า ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบดีขึ้น แต่สถานการณ์ “ความแร้นแค้น” ที่มากกว่าความยากจนในชายแดนใต้ อันเป็นผลกระทบสำคัญมาจากการโรคระบาดด้วย นี่คือ “ปัญหาใหม่” และต้องถือเป็น “ปัญหาใหญ่” ที่เป็นเหมือนกับ “ไฟกองใหม่” ที่เกิดขึ้น หากแก้ไม่ทันอาจจะลุกลามและกลายเป็น “ปัญหาการเมือง” ที่บีอาร์เอ็นจะได้ฉกฉวยไปโหมประโคมถึงความล้มเหลวต่อมาตรการ “ดับไฟใต้” ได้ และนั่นจะเป็นการเพิ่มผลกระทบโดยตรงต่อคนในพื้นที่ทบเท่าทวีคูณ
ผลกระทบในปัญหาใหม่ที่ขอนำมากล่าวถึงที่สำคัญมากคือ “คนว่างงาน” อันเป็นผลสืบเนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศของรัฐบาลมาเลเซียมากกว่าภายในของไทยเราเสียอีก ซี่งเวลานี้เสือเหลืองมีการประกาศปิดประเทศยาวถึงสิ้นเดือน ส.ค.2563 โน้นแล้ว และหลังคลายล็อกก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามาเลเซียจะมีนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติอย่างไร โดยพาะกับแรงงานไทยเราที่ส่วนใหญ่อยู่ในชายแดนใต้
มีการประมวลตัวเลขจากหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานด้านการพัฒนาตรงกันว่า มีคนไทยไปค้าแรงงานในมาเลเซียมีอยู่ราว 200,000 คน กระจายอยู่ในทุกภาคส่วน โดยเป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายแค่ประมาณ 50,000 คน ซึ่งในส่วนนี้ส่วนมากเป็นคนไทยที่มาจากทั่วทุกภูมิภาค และอยู่ในเครือข่ายธุรกิจนวดหรือสปามากสุด ส่วนที่เหลือประมาณ 150,000 คน เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นคนไทยจากพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุด และอยู่ในเครือข่ายต้มยำยุ้งเสียเป็นส่วนใหญ่
โดยข้อเท็จจริงในชายแดนใต้เองก็ยังมีคนว่างงานเป็นทุนเดิมจำนวนมากอยู่แล้ว เพราะในช่วง 16 ปีที่ไฟใต้ระลอกใหม่โชนเปลว อีกทั้งรัฐบาลชุดไหนๆ ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไข ส่งผลให้แผนพัฒนาจากทุกหน่วยงานด้านต่างๆ ถูกขับเคลื่อนไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำอาชีพเกษตรกรรม ที่ผ่านมา ทั้งราคายาง ผลไม้ และพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ก็ตกต่ำมาโดยตลอด
เพิ่งจะเห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในช่วงปีกว่าๆ จากการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ทำให้มีการลงทุนของทั้งคนไทยและจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมีกลุ่มทุนจากจีนมาตั้งโรงงานหลายแห่ง เช่น โรงงานแปรรูปทุเรียน โรงงานแปรรูปมะพร้าว รวมทั้งเห็นถึงการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในบางพื้นที่ที่มีความพร้อมและไม่มีเหตุร้าย
อีกทั้งยังมีข่าวดีที่รัฐบาลมีนโยบายด้านพลังงานให้ตั้ง “โรงงานไฟฟ้าชีวมวล” ในชายแดนใต้กว่า 100 โรง ซึ่ง ศอ.บต.ถือเป็นโอกาสส่งเสริมการเกษตรแผนใหม่แบบผสมผสาน ด้วยการเน้นแบ่งพื้นที่ปลูก “ต้นไผ่” ไม้โตเร็วป้อนให้แก่กระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าเหล่านั้น ที่ผ่านมา มีบริษัทร่วมทุนจากประเทศเกาหลีใต้ได้เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อผลิต “ถ่านไม้ไผ่” ในพื้นที่แล้วเช่นกัน
แต่วันนี้หลังจากการมาเยือนของโรคระบาดจากเชื้อโควิด-19 ทุกอย่างก็ต้องเดินช้าลง ที่สำคัญได้สร้างผลกระทบโยงใยไปหมด ดังนั้น วันนี้ทุกองคาพยพของหน่วยงานรัฐต่างๆ จึงควรต้องมุ่งเน้นที่จุดเดียวกัน นั่นคือ แก้ปัญหาการว่างงาน ด้วยการส่งเสริมอาชีพหรือหาอาชีพรองรับแรงงานไทยที่กลับจากมาเลเซียให้ได้มีที่หยั่งเท้าก่อน เพราะกว่าสถานการณ์ในมาเลเซียจะคลี่คลายคงอีกยาวนาน และเชื่อกันว่า หลังคลี่คลายการจ้างงานในมาเลเซียก็จะไม่เหมือนเดิม
จึงอย่าได้แปลกใจที่วันนี้เราจะได้เห็นภาพแรงงานไทยในชายแดนใต้ที่กลับมาจากมาเลเซีย พวกเขากำลังพยายามที่จะหาทางเดินทางกลับเข้าไปในดินแดนเสือเหลืองอีกครั้ง แม้จะไม่รู้ชะตากรรมว่ากลับไปเป็นแรงงานเถื่อนที่นั่นแล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เพื่อปากท้องพวกเขาจำต้องดิ้นรน ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงต่อการถูกจับกุมคุมขัง หรือกระทั่งเสี่ยงต่อการกลับไปแล้วไม่มีงานทำ ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นภาระให้แก่หน่วยงานรัฐในการช่วยเหลืออีกคำรบก็ตาม
แม้ว่า ศอ.บต.จะรู้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่มีเกิดโรคโควิด-19 ระบาดขึ้น โดยมีการวางแผนรับมือไว้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำแล้ว แต่ปัญหาการว่างงานและความยากจนที่ถึงขั้นแร้นแค้นถือเป็นปัญหาใหญ่ หรืออาจจะเทียบได้กับ “ไฟใต้กองใหม่” เลยก็ว่าได้ “น้ำ” ที่มีเพียงน้อยนิดอย่าง ศอ.บต.จึงทำได้แบบไม่ทั่วถึง
ดังนั้น รัฐบาลโดยเฉพาะทุกกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้อง “สำเหนียก” ในประเด็นปัญหานี้ และต้องมีแผนรับมืออย่างเป็นรูปธรรมนับแต่นี้เป็นต้นไป
เนื่องเพราะเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลาแค่ 3 เดือน กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนหน้า ซี่งหมายความว่า หลังจากหมดเงินเยียวยา 15,000 บาท ที่ไม่ได้มากมายอะไรเลยแล้ว ปัญหา “ความแร้นแค้น” จะยิ่งมองเห็นได้อย่างกระจ่างชัดเจนมากขึ้นไปอีกนั่นเอง
ถ้าราคายางยังตกต่ำ ราคาผลไม้แม้จะดูดีขึ้นบ้างอย่างทุเรียน แต่การเดินทางและท่องเที่ยวยังชะลอตัว การจ้างงานในพื้นที่ก็จะไม่เกิดขึ้นได้อยู่ดี
ที่สำคัญเงิน 400,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลวาดหวังจะมาใช้ในการแก้ปัญหา “ฐานราก” ไม่รู้จะถึงมือประชาชนหรือไม่ เพราะมองดูแผนงานที่เสนอไปจากจังหวัดจังหวัดต่างๆ ปรากฏว่าล้วนยัง “เบลอๆ” อยู่ทั้งนั้น มองไม่ชัดว่าคนจนและคนว่างงานจะได้อะไรที่เหลือ “ติดไม้ไอติม” ไว้บ้าง
ในส่วนของความมั่นคง แม้บีอาร์เอ็นจะก่อเหตุร้ายน้อยลง แต่ก็มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหากวันนี้หน่วยงานความมั่นคงยังไม่ “สำเหนียก” ในอนาคตอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียที่มากกว่า
โดยเฉพาะกับปัญหาที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.เขต 8 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เคยได้หยิบยกไปอภิปรายในสภาแล้วพุ่งตรงสอบถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า จะแก้ปัญหาเรื่องความแร้นแค้นและคนตกงานอย่างไร
ยังมีปัญหาที่นักการเมืองที่คร่ำหวอดกับงานความมั่นคง ตั้งแต่เป็นตำรวจสันติบาลชั้นประทวน ไต่เต้าไปจนถึงคนที่เกษียณอายุในตำแหน่ง ผบก.ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ได้นำไปเป็นประเด็นในสภาผู้แทนคือ ความขัดแย้งเรื่อง “ศาสนา” ในชายแดนใต้ที่ลุกลามออกไปยังทุกภาคของประเทศ
ทั้งนี้ มีองค์กรไทยพุทธองค์กรหนึ่งได้เดินสายเรียกร้องให้ “ไทยพุทธ” ทั้งประเทศมีมติยกเลิก “พ.ร.บ.อิสลาม” ยกเลิก “เครื่องหมายฮาลาล” ห้าม “ก่อสร้างมัสยิด” ให้บัญญัติ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” และอื่นๆ อีกหลายข้อหลากประเด็น
จนขณะนี้จับสังเกตได้ถึง “แรงกระเพื่อม” ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แถมปล่อยให้ปัญหานี้เติบโตไปอย่างไร้ทิศทางเสียด้วย
มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้เต็มๆ นอกจากขบวนการบีอาร์เอ็นแล้ว ก็ยังมีหน่วยงาน “ฝรั่งหัวแดง” จากต่างประเทศร่วมวงอยู่ด้วย เพราะพวกเขาต้องการให้เรื่องความไม่สงบในชายแดนใต้เป็น “ความขัดแย้งทางศาสนา”
หากคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย “วิวาทะ” กันด้วยปมประเด็นทาง “ศาสนา” เมื่อไหร่ นั่นก็เท่ากับเข้าเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นและ เงื่อนไขของบรรดาฝรั่งหัวแดงในทันที นั่นคือ เงื่อนไขการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง
วันนี้ฝ่ายเขาเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนฝ่ายเราล่ะ...?!
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของ “ไฟใต้ระลอกใหม่” ที่มากับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 และมาจากการ “จุดไฟ” ของพวกเราเอง
"ที่มา" - Google News
June 20, 2020 at 04:57PM
https://ift.tt/2UYfyaQ
“ความแร้นแค้น” ไฟใต้กองใหม่ที่มากับโควิด-19 - ผู้จัดการออนไลน์
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment