ทางการเมียนมาระบุ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 126 ราย จากเหตุดินถล่มในเหมืองหยกทางตอนเหนือของประเทศ และมีคนอีกอย่างน้อย 200 คนยังติดอยู่ใต้ดิน
เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยยังพยายามตามหาผู้สูญหายบริเวณเหมืองในเมืองผะกัน รัฐคะฉิ่น ต่อไป เจ้าหน้าที่ดับเพลิงบอกว่า ฝนตกหนักทำให้เกิดเหตุดินโคลนถล่มทับคนที่กำลังพยายามขุดหาหยก แม้ว่าจะมีคำเตือนก่อนหน้านี้ว่าไม่ให้เข้าไปพื้นที่ในวันที่ 1 ก.ค. หลังจากฝนตกหนัก
ในวิดีโอที่บันทึกไว้ได้แสดงให้เห็นภาพขณะดินจำนวนมหึมาถล่มลงในหลุมขนาดใหญ่ที่มีน้ำท่วมขัง ก่อนที่น้ำจะทะลักลงไปยังหุบเขาเบื้องล่าง
มวน เคน คนงานเหมืองวัย 38 ปี บอกสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาเห็นกองหินกำลังใกล้จะถล่ม และคนก็เริ่มตะโกนบอกกันให้วิ่งหนี
"ไม่ถึงนาที คนที่อยู่ตีนเขาก็หายไปหมด ผมรู้สึกใจหาย มีคนติดอยู่ในโคลนตะโกนขอความช่วยเหลือแต่ไม่มีใครช่วยพวกเขาได้"
หลังจากรถบรรทุกเอาเศษหินมากองทิ้งไว้ คนงานหลายร้อยคนก็จะมาพยายามคุ้ยหาหินหยก
แต่เศษหินที่นำมาทิ้งไว้เป็นกองขนาดใหญ่อาจถล่มลงมาได้ในบริเวณที่โล่งเตียนไม่มีต้นไม้ และในช่วงปีที่แล้วปีเดียว มีคนเสียชีวิตจากเหตุในลักษณะนี้มากกว่าร้อยราย
มีรายงานว่า การค้าหยกในเมียนมามีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยเมืองผะกัน (Hpakan) เป็นที่ตั้งของเหมืองหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แม้ว่าจะมีการผ่านกฎหมายการทำเหมืองอัญมณีฉบับใหม่ปีที่แล้ว แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็บอกว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมในพื้นที่น้อยเกินไปและก็มีอำนาจไม่พอที่จะหยุดยั้งการทำเหมืองแบบผิดกฎหมาย
เรื่องของผลประโยชน์
ย้อนไปในปี 2015 เหตุดินถล่มเหมืองในเมืองเดียวกันนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย ขณะที่ในปีเดียวกัน โจนาห์ ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เมียนมารายงานว่า องค์กรรณรงค์เพื่อความโปร่งใส Global Witness ได้เปิดเผยรายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจการทำเหมืองหยกและค้าหยกในเมียนมา ซึ่งมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้นำกองทัพและชนชั้นนำ โดยในรายงานได้ประมาณการว่า เฉพาะปี 2014 เพียงปีเดียว สามารถสกัดหยกจากการทำเหมืองในรัฐคะฉิ่นออกมาได้เป็นมูลค่าถึงราว 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รายงานของ Global Witness ในปีนั้นระบุว่า หยกส่วนใหญ่มาจากเหมืองผะกันในรัฐคะฉิ่น ซึ่งเป็นเหมืองหยกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสัมปทานในการทำเหมืองและค้าหยกจากเหมืองแห่งนี้ ตกอยู่กับบรรดาผู้นำในยุครัฐบาลทหาร หรือผู้ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกองทัพเท่านั้น โดยผู้ได้รับสัมปทานต่างได้รับผลประโยชน์จากเหมืองหยกคิดเป็นมูลค่ารายละกว่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของพลเอกอาวุโสตานฉ่วยและครอบครัวนั้น ทำรายได้จากหยกไปถึงราว 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2013-2014 ทำให้คาดว่ามีการทำรายได้จากหยกในบรรดาผู้นำของเมียนมาไปแล้วราว 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา
ในตอนนั้น นายไมค์ เดวิส เจ้าหน้าที่ของ Global Witness บอกว่า เหมืองหยกนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของทั้งฝ่ายรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อยในรัฐคะฉิ่น และเป็นที่มาของความขัดแย้งที่ยังไม่สงบ โดยมีเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยวในกองทัพเมียนมาบางรายที่ต้องการให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไป เพื่อเปิดช่องในการแสวงหาผลประโยชน์จากเหมืองหยก ซึ่งทำให้ขณะนี้ชนกลุ่มน้อยชาวคะฉิ่นไม่ยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลเมียนมา
"ที่มา" - Google News
July 02, 2020 at 06:30PM
https://ift.tt/2YRpmpk
เกิดเหตุดินถล่มเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา แหล่งธุรกิจมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี - บีบีซีไทย
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment