ภายหลังการชุมนุมของ "คณะประชาชนปลดแอก" เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งถือเป็นการออกมาของผู้ร่วมชุมนุมที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร คสช. ยุติลงหลังรวมตัวราว 8 ชั่วโมง บุคคลสำคัญในรัฐบาลต่างมีปฏิกิริยาต่อการชุมนุมครั้งนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินของ "คณะประชาชนปลดแอก" วานนี้ (16 ส.ค.) รวมทั้งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชู 3 นิ้วของนักเรียนบางคนในโรงเรียนว่า ต้องหาวิธีบริหารจัดการ และรัฐบาลได้เตรียมการเปิดเวทีฟังความเห็นนักศึกษาภายในเดือนนี้
นายกฯ ถามว่า หากไม่มีรัฐบาลตอนนี้หรือรัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มจะดำเนินการได้หรือไม่ ขอให้ถึงเวลาก่อนแล้วจึงดำเนินการ พล.อ.ประยุทธ์ยังขอให้ทุกฝ่ายช่วยไม่ให้สถานการณ์ลุกลามและช่วยกันดูว่าใครอยู่เบื้องหลัง เห็นหรือไม่ว่ามีใครเข้าพื้นที่ชุมนุม
"ใครนะ มีพรรคไหนบ้าง เอาให้แน่ ไม่กล้าพูด มันไม่ใช่ไปอยู่แบบนี้มันก็ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ ผมถามคนที่ได้รับผลกระทบคือใคร เด็กใช่ไหม นักศึกษาใช่ไหม แล้วธุรกิจร้านค้าแถวนั้นเขาว่าไง เขาเปิดร้านไม่ได้ทำยังไง ขายของไม่ได้ทำอย่างไร เศรษฐกิจมันแย่อยู่แล้ว ก็แย่ไปอีกไหม ต้องนึกถึงคนอื่นเขาบ้างสิ จะทำอะไรก็ทำตามขั้นตอนทางกฎหมายที่มีอยู่สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การปฏิบัติตัวตามกฎหมายทุกคนเป็นคนไทยไม่ใช่หรือ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง และเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าทุกอย่างอยู่ในกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตั้งกรรมาธิการศึกษา รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายอย่างเช่นการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้กำลังทำให้ทั้งหมด
ส่วนการที่กลุ่มผู้ชุมนุมขีดเส้นตายให้รัฐบาลตอบรับข้อเรียกร้องภายในเดือน ก.ย. นั้น นายกฯ กล่าวว่าจะตีกรอบก็เรื่องของเขา ต้องพูดตามกฎหมายพูดอย่างอื่นไม่ได้
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุสั้น ๆ ว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้ชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่อย่าไปละเมิดสิทธิคนอื่น
การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกยุติด้วยการยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และยุบสภา และ 2 จุดยืน คือ ต้องไม่มีการทำรัฐประหารและไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ กับอีก 1 ความฝัน คือ การมี "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" แต่ไม่มีการยกรายละเอียดของข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. มาย้ำ
แกนนำผู้ชุมนุมประกาศทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลไม่มีการตอบรับจะยกระดับการชุมนุมในเดือน ก.ย.
ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้ (17 ส.ค.) สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วและการผูกโบว์สีขาวในโรงเรียนในหลายจังหวัด รวมทั้งมีรายงานว่านักเรียนบางคนถูกอาจารย์เรียกไปพบหลังจากเข้าร่วมการแสดงออกดังกล่าว
บีบีซีไทยพบว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างน้อย 8 แห่งในจังหวัด ราชบุรี ขอนแก่น สงขลา ยะลา นครสวรรค์ นนทบุรี กทม.และเพชรบูรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นตามคำเชิญชวนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย ที่ประกาศผ่านบัญชีเฟซบุ๊กให้ร่วมชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติด้วยเสียงดัง โดยได้อธิบายถึงกิจกรรมนี้ว่า พวกเขายังคงรักชาติแต่ไม่รักเผด็จการในคราบประชาธิปไตย
ยื่นศาลพิจารณา อานนท์ นำภา หลังขึ้นปราศรัยซ้ำ
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวว่า การชุมนุมเมื่อ 16 ส.ค. มีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งภาพรวมมีการร่วมมือดี แต่อาจมีการกระทำผิดกฎหมายเล็กน้อย เช่น มาตรการควบคุมโรค การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
สำหรับเนื้อหาการปราศรัยจะผิดกฎหมายอื่น ๆ หรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์คืนวานนี้ เพื่อสอบถามถึงการออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมนั้น พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า หมายจับดังกล่าวเป็นเหตุมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งมีการออกหมายจับจำนวน 15 คน ซึ่งได้จับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 3 คน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มที่เดินทางไปมีจำนวนมากและเป็นยามวิกาล เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจไม่ดำเนินการ เพราะเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น
ส่วนกรณีที่นายอานนท์ นำภา ได้ขึ้นปราศรัยอีกครั้งหลังถูกตั้งข้อหา ผบช.น. ชี้แจงว่า การพิจารณาว่ามีความผิดหรือไม่เป็นอำนาจของศาล เจ้าหน้าที่ได้มีการยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลพิจารณาไปแล้ว เช่นเดียวกับกรณีของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์
ศอปส. ยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ขอให้ยื่นถอนประกันตัว
กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยต่อการชุมนุมของนักศึกษา ซึ่งให้เหตุผลถึงการยกเรื่องสถาบันกษัตริย์มาพูดในที่ชุมนุม ได้มีปฏิกิริยาต่อการชุมนุมวานนี้ เช่นกัน
นายสุเมธ ตระกูลวุ่นหนู แกนนำศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดียื่นศาลขอถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว แต่พบว่าไปร่วมชุมนุมวานนี้ ได้แก่ นายอานนท์ นายพริษฐ์และนายภาณุพงศ์ จาดนอก
เอกสารประกอบคำร้องชี้แจงเหตุผลว่าคดีที่ผู้ต้องหากระทำผิดนั้นเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ และละเอียดอ่อนอาจส่งผลกระทบทางจิตใจกับคนในสังคม แต่กลับยังคงขึ้นปราศรัยและร่วมชุมนุม
ฝ่ายค้านยื่นญัตติแก้ รธน. แล้ว
ส่วนอีกด้านหนึ่งมีความเคลื่อนไหวที่รัฐสภา ย่านเกียกกาย เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้านยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อประธานสภา ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ออกมาสอดรับกับ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของ "ประชาชนปลดแอก" ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีฉันทานุมัติว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะได้ตรวจสอบแล้วเห็นข้อบกพร่องมากมาย จึงเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาพิจารณาการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ระบุว่าจะตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ จากนั้นจะบรรจุระเบียบวาระภายใน 15 วัน คาดพิจารณาได้ทันสมัยการประชุมสภานี้
สำหรับการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีสมาชิกเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือ 98 คนจาก 488 คน โดย ส.ส. พรรคก้าวไกลได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติ แต่ไม่ได้ส่งตัวแทนมาร่วมยื่นร่างฯ
วานนี้ (16 ส.ค.) กลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" ได้เปิดโรดแมปในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 269-272 เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คนพ้นจากตำแหน่งไปภายในเดือน ก.ย. นี้ ทำให้บรรดาสมาชิกสภาสูงออกมาให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวาง
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ทุกคนเข้ามาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ต้องรับฟัง ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป โดยเชื่อว่า ส.ว. ทุกคนพร้อมลงมติตามผลประโยชน์ของประชาชนอย่างรอบคอบและรอบด้าน
อย่างไรก็ตามนายคำนูณ และ พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. เห็นตรงกันว่าขณะนี้โจทย์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจน โดยฝ่ายที่บอกว่าต้องการให้แก้ไข ก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นประเด็นใดบ้าง
"ที่มา" - Google News
August 17, 2020 at 06:50PM
https://ift.tt/348fQkI
ประชาชนปลดแอก: นายกฯ ถามใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุม 16 ส.ค. เตือนอย่าลุกลาม - บีบีซีไทย
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment