"ผมทำงานกับสิ่งที่บินเร็วมาตลอด" อาดัม ดิสเซล หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในสหรัฐฯ ของบริษัทรีแอ็กชัน เอนจินส์ (Reaction Engines) กล่าว
บริษัทของอังกฤษแห่งนี้กำลังสร้างเครื่องยนต์ที่สามารถบินได้เร็วจนมองแทบไม่ทัน และหากใช้เครื่องยนต์ไอพ่นที่มีอยู่ในขณะนี้ทำการบิน เครื่องยนต์ก็หลอมละลายไปเลย
ทางบริษัทต้องการทำความเร็วให้ได้ระดับไฮเปอร์โซนิก หรือมากกว่า 5 เท่าของความเร็วเสียง ที่อัตราเร็วประมาณ 6,400 กม./ชั่วโมง หรือ มัค 5 (Mach 5)
แนวคิดนี้มาจากความต้องการสร้างเครื่องบินโดยสารความเร็วสูงให้ได้ภายในทศวรรษ 2030
"ไม่จำเป็นต้องถึงระดับมัค 5 ก็ได้ อยู่ที่มัค 4.5 ก็จะง่ายกว่าในทางฟิสิกส์" นายดิสเซล กล่าว
ด้วยความเร็วระดับนั้น คุณสามารถบินจากลอนดอนไปซิดนีย์ได้ในเวลา 4 ชั่วโมง หรือจากลอสแอนเจลิสไปโตเกียวได้ในเวลา 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับเที่ยวบินไฮเปอร์โซนิกไม่ใช่เพื่อการบินพลเรือน แต่งานวิจัยเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากวัตถุประสงค์ทางการทหาร ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศแข่งกันพัฒนาด้านนี้
"ระบบหลากหลาย"
เจมส์ แอ็กตัน เป็นนักฟิสิกส์ของสหราชอาณาจักร ที่ทำงานให้กับมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ กล่าวว่าจากการสำรวจความพยายามของสหรัฐฯ จีน และรัสเซียในการพัฒนาอาวุธที่มีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก เขาได้ข้อสรุปว่า "มีระบบไฮเปอร์โซนิกหลากหลายรูปแบบที่กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ"
วัสดุพิเศษต่าง ๆ ที่สามารถทนทานต่อความร้อนที่สูงมากซึ่งเกิดจากการทำความเร็วระดับมัค 5 และใช้เป็นที่ติดตั้งเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้ กำลังจะทำให้เที่ยวบินไฮเปอร์โซนิกในชั้นบรรยากาศโลกเกิดขึ้นได้จริง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ:
เคยมีการทดลองเที่ยวบินไฮเปอร์โซนิกที่มีนักบินขับมาแล้วหลายครั้งในสมัยศตวรรษที่ 1960 ด้วยเครื่องบินจรวดเอ็กซ์-15 ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile--ICBM) อีกหลายลูกที่เดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก
ตอนนี้ชาติมหาอำนาจหลายชาติ กำลังแข่งกันสร้างอาวุธที่สามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศได้โดยไม่จำเป็นต้องออกไปนอกโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากความเย็นในการลดความร้อน นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมอาวุธเหล่านี้เพื่อใช้โจมตีเป้าหมายที่อาจเคลื่อนที่ได้ ต่างจาก ICBM ที่ใช้โจมตีเป้าหมายที่เป็นเมือง
มือสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier-killers)
การทุ่มงบประมาณทางทหารของ 3 ชาติยักษ์ใหญ่ได้ช่วยผลักดันด้านไฮเปอร์โซนิก
ในการแถลงข่าวของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อไม่นานนี้ นายไมก์ ไวต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านไฮเปอร์โซนิกของกองทัพสหรัฐฯ ได้พูดถึงการพัฒนาที่กำลังได้รับการผลักดันโดย "คู่แข่งมหาอำนาจของเราและความพยายามของพวกเขาในการท้าทายการครอบงำของเรา"
ความแม่นยำคือความท้าทายสำคัญสำหรับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเหล่านี้
แค่การมีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่ได้รับการขนานนามว่า "มือสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน" (carrier-killers) อยู่ในครอบครอง ก็อาจทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ จำเป็นต้องอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกห่างจากชายฝั่งของจีน
แต่การโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังเดินทางด้วยอัตราเร็ว 30 นอต หรือประมาณ 56 กม./ชั่วโมง จำเป็นต้องมีการคำนวณวิถีของขีปนาวุธอย่างละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำความเร็วถึงระดับมัค 5
ความร้อนที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ผิวขีปนาวุธเมื่อทำความเร็วถึงระดับไฮเปอร์โซนิก จะทำให้เกิดพลาสมาห่อหุ้ม หรือเกิดสสารที่เป็นแก๊สขึ้น
มันอาจจะขัดขวางการรับสัญญาณที่มาจากภายนอกได้ อย่างเช่น สัญญาณดาวเทียมสื่อสาร และอาจจะทำให้ระบบเล็งเป้าหมายหมาย (internal targeting systems) จับตำแหน่งไม่ได้ โดยระบบนี้จะพยายามมองหาตำแหน่งของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ด้านนอกเพื่อระบุเป้าหมายในการโจมตี
พลาสมาจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่านั้น
ขีปนาวุธที่มีรูปทรงกรวยจะถูกเคลือบด้วยพลาสมา แต่ขีปนาวุธที่มีลักษณะคล้ายกับลูกดอกที่มีปีกมันเป็นประกาย อาจจะดันพลาสมาออกไปจากพื้นผิวที่มีตัวรับสัญญาณที่อ่อนไหวที่สุดอยู่
ปากฉลาม
นอกจากนี้ การแตกตัวทางเคมียังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาของเที่ยวบินไฮเปอร์โซนิกด้วย
ที่ระดับความเร็วและอุณหภูมิสูงอย่างมากนั้น ปรากฏการณ์นี้อาจจะทำให้โมเลกุลของออกซิเจนแยกตัวออกมาจากอะตอม
ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อแบบจำลองทางเคมี และอาจสร้างปัญหาให้กับเครื่องยนต์ที่ใช้อากาศระบายความร้อนซึ่งต้องพึ่งสารเคมีเหล่านี้
ความก้าวหน้าในการแข่งขันด้านอาวุธไฮเปอร์โซนิกเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นเต้นมาโดยตลอด ในปี 2010 สหรัฐฯ ได้ปล่อยเครื่องบินไร้คนขับที่มีลักษณะเหมือนปากฉลามบินเหนือน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกที่ระดับความเร็วไฮเปอร์โซนิกเป็นเวลานาน 5 นาที
เป้าหมายของการปล่อยเครื่องบินลำนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็ว แต่ยังเป็นเรื่องของเวลาด้วย
เวลา 5 นาทีอาจฟังดูเหมือนไม่นาน แต่ในแง่ของการโจมตีอุปสรรคที่มีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก นั่นหมายถึงชัยชนะ
เครื่องบินเอ็กซ์-51เอ (X-51A) ที่มีความเร็วระดับนี้ ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 ที่บินอยู่ในระดับสูง จากนั้นมีการใช้จรวดช่วยเร่งความเร็วจนถึงระดับมัค 4.5 ก่อนที่เครื่องยนต์ของมันจะเริ่มทำงาน
เครื่องยนต์นี้รู้จักกันในชื่อว่า สแครมเจ็ต (scramjet) มันจะนำอากาศที่ไหลเข้ามาไปผสมเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ เพื่อเร่งความเร็วให้ได้ถึงระดับไฮเปอร์โซนิก
นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลานานหลายนาทีกว่าที่อุณหภูมิจะร้อนถึงระดับ 1,000 องศาเซลเซียส ในที่สุด เอ็กซ์-51เอ 4 ลำ ก็สามารถบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้ ระหว่างปี 2010 และ 2013
คลื่นกระแทก (Shockwave)
แอโรเจ็ต ร็อกเก็ตไดน์ (Aerojet Rocketdyne) เป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์จรวดและอวกาศในแคลิฟอร์เนียที่ร่วมงานกับโครงการเอ็กซ์-51เอ มาตรการเก็บรักษาความลับของเทคโนโลยีนี้ ทำให้พนักงานของบริษัทไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ แม้ว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดลงไปแล้ว 7 ปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านไฮเปอร์โซนิกคนหนึ่งของบริษัทนี้กล่าวถึงเอ็กซ์-51เอ ว่า "ส่วนที่ร้อนมาก ๆ ของเครื่องยนต์ คือ ส่วนหน้าที่เกิดคลื่นกระแทกขึ้น ดังนั้น จึงมีการลงทุนในการทำวัสดุส่วนนี้"
เขากล่าวว่าทีมงานได้บทเรียนหลายอย่างจากเครื่องบินจรวดเอ็กซ์-15 ในสมัยศตวรรษที่ 16 และจากโครงการกระสวยอวกาศที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
บริษัทรีแอ็กชัน เอนจินส์ ได้สาธิตกระบวนการที่ทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้อากาศนำอากาศที่ร้อนอย่างยิ่งในช่วงที่ทำความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกเข้าไปในเครื่องยนต์ได้โดยไม่มีการสะดุด
เครื่องยนต์ SABRE (Synergetic Air Breathing Rocket Engine) ของทางบริษัทจะผสมสิ่งที่เรียกว่า "ตัวลดอุณหภูมิส่วนหน้า" (pre-cooler) ซึ่งเป็นส่วนแรกของเครื่องยนต์ที่สัมผัสกับอากาศร้อนที่ระดับความเร็วไฮเปอร์โซนิก จากนั้นจึงนำอากาศที่อุณหภูมิลดลงนี้ไปผสมกับเชื้อเพลิงเพื่อสร้างแรงผลักไปข้างหน้า
ร้อนเหมือนลาวา
เครื่องยนต์ SABRE ถูกนำไปทดสอบอย่างละเอียดที่โคโลราโดในเดือน ต.ค. 2019 ซึ่งทางรีแอ็กชัน เอนจินส์ ต้องหาวิธีในการจำลองความเร็วลมระดับไฮเปอร์โซนิก
ทางบริษัทนำเครื่องยนต์ซูเปอร์โซนิกเครื่องหนึ่งมายึดไว้ แล้วส่งลมที่ออกมาจากด้านหลังของเครื่องยนต์นี้เข้าไปในเครื่องยนต์ SABRE
ตัวลดอุณหภูมิส่วนหน้าของเครื่องยนต์ SABRE จะทำหน้าที่ของมัน ด้วยการสูบสารทำความเย็นเข้าไปในระบบด้วยแรงดันสูงและให้เครื่องยนต์ SABRE ผสมอากาศนั้นกับเชื้อเพลิง
การหาวัสดุที่จำเป็นต้องใช้งานไม่ใช่เรื่องง่าย กระสวยอวกาศใช้กระเบื้องเซรามิกที่ประกอบด้วยวัสดุหลายอย่างในการปกป้องตัวมันเองในช่วงที่ร้อนจัดจนมีสีขาวแผ่ออกมา ตอนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
อีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้โลหะผสมนิกเกิล ที่ชื่อว่า อินโคเนล (Inconel) ซึ่งสามารถทานทนกับลมที่ร้อนเทียบเท่ากับลาวาได้
นายดิสเซลกล่าวว่า รีแอ็กชัน เอนจินส์ กำลังใช้โลหะผสมอินโคเนล "นั่นคือจุดที่เราอยู่ในตอนนี้ และเราใส่ท่อทำความเย็นเข้าไปเพื่อระบายความร้อนด้วย" เขากล่าว
ระบบจัดการความร้อนที่ซับซ้อนประกอบกับการใช้อินโคเนล ทำให้มีหนทางเดินหน้าต่อไปได้
ผู้นำด้านไฮเปอร์โซนิก
ถ้าการผสมผสานนี้ได้ผล เที่ยวบินไฮเปอร์โซนิกที่รับส่งผู้โดยสารได้ ก็อาจจะกลายเป็นความจริงภายใน 15 ปีนี้
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ดูแลเครื่องบินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มองเห็นความเป็นไปได้ในการให้บุคคลสำคัญได้เดินทางด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก
ทางกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้สั่งการให้บริษัทสตาร์ตอัป เฮอร์เมียส (Hermeus) ที่ทำงานด้านไฮเปอร์โซนิกในเมืองแอตแลนตา ประเมินรูปแบบการเดินทางด้วยความเร็วระดับมัค 5 ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 20 คน
นั่นหมายความว่าในอนาคต ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมกับคนอีกจำนวนไม่มากที่ได้รับเลือก อาจจะได้ร่วมเดินทางด้วยความเร็วระดับมัค 5 ในสักวันหนึ่ง
"ที่มา" - Google News
September 03, 2020 at 09:42AM
https://ift.tt/2YVJyGr
ไฮเปอร์โซนิก: เครื่องบินเร็วเหนือเสียง 5 เท่า ที่กำลังพัฒนาอยู่ มีความก้าวหน้าถึงขั้นไหน - บีบีซีไทย
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment