ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ระบุ อย่าเพิ่งเคลิ้มตาม...ไม่ง่าย “เกาะไหหลำ”จะมาทดแทนเกาะฮ่องกง
ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ผู้เขียนหนังสือ The Rise of China จีนคิดใหญ่มองไกล ได้เขียนบทความ อย่าเพิ่งเคลิ้มตาม...ไม่ง่าย “เกาะไหหลำ”จะมาทดแทนเกาะฮ่องกง ความว่า
ในช่วงนี้ ชาวโลกโซเชียลที่สนใจจีนและสื่อไทยหลายรายเริ่มมีการพูดว่า “เกาะไหหลำจะก้าวขึ้นมาทดแทนฮ่องกง จนกลายเป็น New Hong Kong ของจีน” โดยเฉพาะล่าสุด รัฐบาลจีนได้ประกาศ “แผนแม่บท 6+1+4" เพื่อผลักดันเกาะไหหลำให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีมาตรฐานสูง (High-Standard Free Trade Port) เพื่อมุ่งเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว และในปี 2018 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงก็ได้ประกาศผลักดันเกาะไหหลำให้เป็นเขตการค้าเสรีนำร่อง (a pilot Free Trade Zone) และนำโครงการ Visa Free มาใช้กับ 59 ประเทศทั่วโลก เพื่อหวังดึงดูดต่างชาติให้บินมาเกาะไหหลำให้มากขึ้นโดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่า
ดร.อักษรศรี ระบุว่า อย่าเพิ่งเคลิ้มตามสิ่งที่มีการนำเสนอฯ เพราะแม้ว่าทางการจีนจะทุ่มเทผลักดันกันชุดใหญ่ขนาดนี้ แต่ล่าสุดปี 2562 มีสถิติชาวต่างชาติเดินทางไปเกาะไหหลำเพียงแค่ 1.4 ล้านคน และท่าเรือของเกาะไหหลำก็ยังไม่ติดอันดับโลก และไม่ติดอันดับ 15 ท่าเรือหลักของจีนด้วยซ้ำ ทำไมเป็นเช่นนั้น? ดร.อักษรศรีได้มีบทวิเคราะห์พัฒนาการของเกาะไหหลำ และชี้ให้เห็นจุดอ่อนหลายเรื่องที่ทำให้ไม่ง่ายที่เกาะไหหลำจะมาทดแทนเกาะฮ่องกง และไม่ใช่ทุกเรื่องที่จีนทำแล้วจะสำเร็จดังหวัง สรุปได้ดังนี้
ทำความรู้จักเกาะไหหลำ
เกาะไหหลำ หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า “ไห่หนาน” (Hainan) เป็นเกาะที่อยู่ทางใต้ของจีนในอ่าวตังเกี๋ยของทะเลจีนใต้ ในอดีต เกาะไหหลำเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง แต่ต่อมาในปี 2531 ได้มีการยกระดับเกาะไหหลำขึ้นเป็น“มณฑล” โดยมีนครไหโข่ว (Haikou) เป็นเมืองเอก และยังได้ประกาศให้ทั้งเกาะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเกาะไหหลำจะเป็น SEZ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้ำหน้าทันสมัยได้มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ SEZ ใน 4 เขตแรกของจีน ได้แก่ เสิ่นเจิ้น จูไห่ เซี่ยเหมิน และซัวเถา (ซ่านโถว ในภาษาจีนกลาง) จากข้อมูลในปี 2562 เกาะไหหลำยังคงมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กติดอันดับ 28 จากทั้งหมด 31 มณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่
การทุ่มผลักดันเกาะไหหลำไม่ใช่เรื่องใหม่
ทางการจีนมีนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันการพัฒนาเกาะไหหลำอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมให้จัดงานอีเวนต์ระดับโลกบนเกาะไหหลำ เช่น การจัดประกวด Miss World การจัดแข่งกอล์ฟระดับโลก รวมไปถึงการจัดการงานประชุมระหว่างประเทศ Boao Forum For Asia อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังจะดันให้เกาะไหหลำเป็นที่รู้จักในระดับโลก และตั้งหมายให้เป็น International Tourist Destination โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวชายทะเลในเมืองซานย่าให้เป็นเสมือน “ฮาวายของจีน” และประกาศให้เกาะไหหลำเป็นแหล่งช้อปปิ้ง สินค้าปลอดภาษี “เกาะปลอดภาษี Duty Free” ของนักช้อปชาวจีน
จุดอ่อนของเกาะไหหลำ
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจีนจะทุ่มเทให้เกาะไหหลำเต็มที่ ผู้นำสูงสุดของจีนอย่างสี จิ้นผิง ประกาศมาตั้งแต่ปี 2561 ที่จะผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อหวังดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ แต่ก็ยังไม่สำเร็จดังหวัง จากรายงานในปี 2562 พบว่า มีจำนวนชาวต่างประเทศเดินทางมาเกาะไหหลำน้อยมากเพียงแค่ 1.4 ล้านคน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จากประสบการณ์ของดิฉันที่ได้ลงพื้นที่บนเกาะไหหลำและติดตามพัฒนาการของเกาะแห่งนี้มานาน พบว่า เกาะไหหลำมีจุดอ่อนสำคัญ อย่างน้อย 2 ด้าน ได้แก่
ประการแรก จุดอ่อนทางกายภาพจากการที่ตั้งอยู่ห่างแผ่นดินใหญ่ ระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร การขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงกับแผ่นดินใหญ่ จึงต้องเสียเวลาเดินเรือผ่านช่องแคบไห่หนาน ทำให้ไม่สะดวกและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลจีนจะผลักดันให้เป็น Free Trade Port แต่คงไม่มีสายเรือของต่างชาติให้ความสนใจไปใช้บริการมากนัก หากต้องเสียเวลาขนส่งมาเชื่อมต่อมายังตลาดหลักบนแผ่นดินใหญ่อีกทอดนึงเช่นนี้ และแม้ว่าจะมีบริการนำรถไฟลงเรือเฟอร์รี่ (Rail Ferry) แต่ก็เสียเวลามากในการเดินทางผ่านช่องแคบในทะเลเพื่อเชื่อมแผ่นดินใหญ่
ที่มาของภาพ https://www.chinasage.info/provinces/hainan.htm
ดังนั้น แม้จะทุ่มเทผลักดันเชิงนโยบายเต็มที่ จากสถิติในปี 2019 ท่าเรือของเกาะไหหลำก็ยังไม่ติดอันดับ Top 50 ของการจัดอันดับท่าเรือของโลก และไม่ติดอันดับแม้กระทั่ง Top 15 ท่าเรือสำคัญในประเทศจีนเองด้วย (อ้างอิง http://www.worldshipping.org/about-the-industry/global-trade/top-50-world-container-ports)
ประการที่สอง จุดอ่อนเรื่อง “คน” บนเกาะไหหลำ ด้วยจำนวนประชากรเพียงแค่ 9.5 ล้านคนจึงเป็นตลาดเล็กมากและไม่ได้มีรายได้ต่อหัวสูงมากนัก ที่สำคัญชาวจีนท้องถิ่นบนเกาะไหหลำก็ไม่ได้มีความเป็นนักธุรกิจที่กระตือรือร้นขยันขันแข็งหรือไม่ได้เป็นขาลุยชอบเสี่ยงทำธุรกิจมากนัก ตอนนี้ นักลงทุนจีนบนเกาะไหหลำส่วนใหญ่จะมาจากมณฑลอื่น เช่น จากกวางตุ้ง ที่เข้ามาเน้นลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดอุปทานล้นเกิน (over supply) โดยเฉพาะในเมืองซานย่าที่เต็มไปด้วยตึกโรงแรมที่พักมากมาย เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ก็มีเพียงกลุ่มคนจีนเที่ยวจีนกันเองที่เดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะแห่งนี้ราว 75 ล้านคนต่อปี
จุดแข็งฮ่องกง
เมื่อเปรียบเทียบเกาะไหหลำกับเกาะฮ่องกงแล้ว พบว่า เป็นมวยคนละรุ่น ทั้งในแง่มูลค่าการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของฮ่องกงที่สูงติดอันดับโลก เนื่องจากฮ่องกงมีจุดแข็งด้านธุรกิจที่สั่งสมมายาวนานกว่า ทั้งด้านการเป็นท่าเรือหลักติดอันดับโลก และเป็นศูนย์กลางตลาดเงินและตลาดทุนระดับโลก รวมทั้งมีการลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาฮ่องกงมากติดอันดับ 3 ของโลก จึงยากที่เกาะไหหลำจะมาล้มแชมป์เดิมอย่างฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางการค้าหรือการขนส่งโลจิสติกส์ในระดับโลก ดังนั้น โดยสรุป จึงไม่ง่ายที่จะผลักดันเกาะไหหลำมาทดแทนเกาะฮ่องกง คนไทยที่ติดตามเรื่องนี้ ก็อย่าเพิ่งเคลิ้มตามไปมากนักนะคะ เรื่องนี้ต้องเกาะติดตามลุ้นกันอีกนาน
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมสารคดี Eyes on Hainan “เกาะไหหลำ ไข่มุกแห่งทะเลจีนใต้” โดยดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ได้เดินทางไปสำรวจพัฒนาการของเกาะไหหลำ และนั่งรถไฟเชื่อมโยงจากเมืองซานย่าไปจนถึงเมืองไหโข่วด้วย https://www.youtube.com/watch?v=3fBO5qvxcNo
อ่านบทความของ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ที่ผ่านมาได้ที่
"ที่มา" - Google News
June 14, 2020 at 10:10AM
https://ift.tt/2B8fk9W
ไม่ง่าย “เกาะไหหลำ” จะมาแทนที่เกาะฮ่องกง - ฐานเศรษฐกิจ
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment