วันนี้ วันเข้าพรรษา และวันหยุดชดเชย วันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าทรงประกาศ พระพุทธศาสนา ขึ้นในโลก ทรง แสดง พระปฐมเทศนา แก่ ปัญจวัคคีย์ จนเกิด พระอริยสงฆ์องค์แรก ทำให้เกิด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วันมหามงคลนี้ผมชวนท่านผู้อ่านไปฟังธรรมกันนะครับ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยแห่ง Fake News ไม่รู้อะไรจริงไม่จริง ผมจึงขอนำคำสอนของ พระพุทธองค์ ในเรื่อง “สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ” หรือ “เกสปุตตสูตร” หรือ “กาลามสูตร” มาเล่าสู่กันฟัง
การเรียก “เกสปุตตสูตร” ว่า “กาลามสูตร” ก็เพราะ เป็นพระสูตรที่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงแก่ ชาวกาลามะ ที่ หมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล เป็น “หลักความเชื่อ” ที่ พระพุทธองค์ ทรงวางไว้ให้ พุทธศาสนิกชน ใช้พิจารณา อะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ เพื่อไม่ให้หลงผิด
พระสูตรนี้มีที่มาโดยย่อคือ วันหนึ่ง พระพุทธเจ้า เสด็จไป ประทับยัง หมู่บ้านเกสปุตตนิคม อันเป็นที่อยู่ของ ชาวกาลามโคตร หรือ กาลามชน ซึ่งชาวกาลามะได้ยินชื่อเสียงอันโด่งดังของ พระพุทธเจ้า มานานแล้วว่า “อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุธโธ” แปลว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเป็นผู้ไกลจากกิเลสเป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง” จึงพากันมาเฝ้า พระพุทธเจ้า เป็นจำนวนมาก พวกที่ไปเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า ในครั้งนั้น เป็นพวกที่ไม่เชื่อในบุญบาปก็มี พวกที่ไม่นับถือพุทธศาสนาก็มี พวกที่สงสัยอยู่ก็มี พวกที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ก็มี
ประชาชนที่เข้าเฝ้าได้กราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในเกสปุตตนิคมนี้ มีสมณพราหมณ์บวชในศาสนาต่างๆเดินทางมาเผยแพร่คำสอนในศาสนาของตนอยู่เสมอ นักสอนศาสนาเหล่านั้นได้กล่าวยกย่องคำสอนแห่งศาสนาของตน และตำหนิติเตียนดูหมิ่นเหยียดหยามคัดค้านศาสนาคนอื่น แล้วนักสอนศาสนาเหล่านี้ก็จากไป พวกข้าพระองค์จึงมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า บรรดาศาสดาหรือนักสอนศาสนาเหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ ใครถูกใครผิดกันแน่”
พระพุทธเจ้า ทรงตรัสกับชาวกาลามะว่า “ชาวกาลามะทั้งหลาย น่าเห็นใจที่ท่านทั้งหลายตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ พวกท่านทั้งหลายควรสงสัยในเรื่องที่ควรสงสัย เพราะทั้งหลายตกอยู่ในฐานะที่ต้องสงสัย ตัดสินใจไม่ได้” แทนที่ พระพุทธเจ้า จะตรัสเหมือนสมณพราหมณ์ศาสนาอื่น พระองค์กลับไม่สรรเสริญคำสอนของพระองค์ ไม่ทรงติเตียนคำสอนของศาสนาอื่น แต่พระองค์ทรงกล่าวถึง “สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ” ดังนี้
มา อสฺสฺสวเนน-อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
มา ปรมฺปราย-อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเล่าสืบกันมา
มา อิติกิราย-อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
มา ปิฎกสมฺปทาเนน-อย่าเพิ่งเชื่อเพราะอ้างอิงคัมภีร์หรือตำรา
มา ตกฺกเหตุ-อย่าเพิ่งเชื่อเพราะการคิดเอาเอง
มา นยเหตุ-อย่าเพิ่งเชื่อโดยการอนุมานหรือคิดคาดคะเนเอาเอง
มา อาการปริวิตกฺเกน-อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดตามอาการที่ปรากฎ
มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา-อย่าเพิ่งเชื่อเพราะต้องกับความเห็นของตน
มา ภพฺพรูปตา-อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดควรเชื่อได้
มา สมโณ โน ครูติ-อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา
คำว่า “มา” เป็นภาษาบาลีแปลว่า อย่าเพิ่งเชื่อ ทรงให้พิจารณาด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้ดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ทิ้งเสีย ถ้าดีก็ทำตาม
“กาลามสูตร” เป็นพระสูตรที่ให้อิสระทางความคิด ไม่ได้ห้ามเชื่อ แต่ให้พิจารณาให้ดีเสียก่อน แล้วจึงค่อยเชื่อ อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา อย่าเชื่ออย่างไร้เหตุผล สังคมไทยทุกวันนี้ ไม่ว่า โลกจริง หรือ โลกโซเซียล ล้วนต้องใช้ “กาลามสูตร” มาพิจารณาให้มากๆ อะไรควรเชื่อได้ อะไรไม่ควรเชื่อ โดยใช้ พรหมวิหาร 4 มาเป็นเครื่องพิจารณา เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา–วางใจเป็นกลาง แล้วท่านก็จะพบแต่ความสุขใจตลอดไป.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
"ที่มา" - Google News
July 06, 2020 at 05:04AM
https://ift.tt/31MbJK5
สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ - ไทยรัฐ
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment