เสื้อโปโล ชื่อนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก แค่พูดภาพเสื้อแขนสั้นคอปก มีกระดุมคอ คงผุดขึ้นมาในความคิดของผู้คนอย่างอัตโนมัติ ในฐานะเสื้อสุดเอนกประสงค์ ที่ใส่ทำกิจกรรมได้มากมายในชีวิต แถมดูดีมีระดับอีกด้วย
แม้จะเป็นที่คุ้นชินกับเสื้อโปโล แต่คนทั่วไปคงไม่ค่อยรู้กันมากนักว่า เสื้อโปโลมีจุดเริ่มต้นความเป็นอย่างไร และคุณจะเชื่อไหมว่า เสื้อโปโลไม่ได้เริ่มต้นจากน้ำมือแบรนด์แฟชั่น หรือ ดีไซน์เนอร์ชั้นนำคนไหน แต่เริ่มจากฝีมือของทหาร ...
Main Stand จะพาไปรู้จักที่มาที่ไป และความเป็นมาของเสื้อโปโล ว่าเสื้อชนิดนี้ เดินทางมาเป็นเสื้อยอดนิยมของผู้คน แบบในปัจจุบันได้อย่างไร
จากทหารสู่โปโล
แม้ว่า "เสื้อโปโล" จะเป็นประเภทเครื่องแต่งกาย ที่ชื่อดังกระฉ่อนไปทั่วทุกมุมโลก แต่กลับไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจุดเริ่มต้นของเสื้อประเภทนี้ เริ่มต้นในช่วงเวลาไหน ปีไหน แต่ถูกสรุปว่าเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 19
Photo : tennisballs.xyz
พูดถึงเสื้อโปโล หลายคนย่อมนึกถึงความหรูหรา ตามแบบฉบับอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเสื้อโปโลถูกออกแบบโดยชาวอังกฤษ แต่ไม่ได้กำเนิดขึ้นบนดินแดนผู้ดี เพราะเสื้อโปโลถูกออกแบบโดยกลุ่มทหารชาวอังกฤษ ที่อาศัยอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงเวลานั้น
เนื่องจากสภาพแดดร้อนแรงของประเทศอินเดีย ที่คอยแผดเผาเหล่าทหารจากแดนไกล ทำให้พวกเขาพยายามคิดค้นเครื่องแต่งกาย ที่จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตกลางแจ้ง ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
พวกเขาคิดค้นเสื้อแขนสั้น ผลิตด้วยผ้าใยฝ้าย เพื่อการระบายอากาศ รวมถึงใส่คอปกเข้าไป เพื่อแสดงถึงความระเบียบเรียบร้อย ให้สมกับการเป็นทหาร จึงเกิดเป็นเสื้อโปโล ดังที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน
ส่วนเหตุผลที่เสื้อประเภทนี้ ถูกเรียกว่าเสื้อโปโล เพราะแรกเริ่มเดิมที ทหารอังกฤษที่อาศัยอยู่ในอินเดีย นิยมเล่นกีฬาโปโล เนื่องจากในช่วงเวลานั้น กีฬาโปโลถือเป็นกีฬาประจำตัวของเหล่าทหารอังกฤษ ไม่ว่าพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน พวกเขาจะพากีฬาโปโลติดตัวไปด้วย
เสื้อโปโลจึงกลายเป็นเสื้อประจำโปโลคลับ ของเหล่าทหารอังกฤษในอินเดีย ซึ่งเสื้อโปโลแบบเเขนยาว ได้กำเนิดในช่วงเวลานั้นเช่นกัน เพราะทหารที่เป็นนักกีฬาโปโลบางคน ถนัดในการใส่เสื้อแขนยาวเพื่อเล่นกีฬาโปโลมากกว่า
Photo : blog.watchdoctor.biz
อย่างไรก็ตาม เสื้อโปโลกลายเป็นที่นิยมของเหล่านักกีฬาโปโลมากขึ้นเรื่อย เพราะเสื้อโปโลให้ความสะดวกสบาย ในการเล่นกีฬาชนิดนี้ ... ผ้าใยฝ้ายช่วยให้นักกีฬาโปโล มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่คล่องแคล่วว่องไวมากยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งระบายอากาศได้ดี เหมาะกับการใส่เล่นกีฬากลางแจ้ง
เสื้อโปโลจึงไม่ได้เป็นที่นิยม แค่เหล่าทหารที่อาศัยอยู่ในอินเดีย แต่แผ่กระจายความนิยม กลับไปยังประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นว่า นักกีฬาโปโลหันมาหยิบเสื้อโปโล สวมใส่ลงสนามเพื่อเล่นกีฬากันทั่วอังกฤษ จนเสื้อโปโลกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้ และเป็นวัฒนธรรม สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เสื้อแฟชั่นผ่านกีฬาเทนนิส
ปี 1899 จอห์น อี บรูค สมาชิกจากครอบครัว ผู้ทำธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้า Brooks Brothers ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมายังประเทศอังกฤษ และได้เข้าชมการแข่งขันกีฬาโปโล ทำให้เขาได้เห็นเสื้อโปโลเป็นครั้งแรกในชีวิต
Photo : poloweekly.com
ทันทีที่เขาได้เห็นเสื้อโปโล ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับเสื้อโปโล อันเป็นที่นิยมอยู่ในยุคปัจจุบัน เขาเกิดความคิดทันทีว่า เสื้อชนิดนี้เป็นได้มากกว่าเสื้อกีฬาทั่วไป แตกต่างจากชาวอังกฤษ ที่มองว่าเสื้อโปโล คือเสื้อกีฬา เนื่องจากเสื้อนี้ถูกพัฒนาและออกแบบ เพื่อการเล่นกีฬาเพียงอย่างเดียวในช่วงเวลานั้น
บรูคเดินทางกลับไปที่สหรัฐอเมริกา เขาได้นำไอเดียตั้งต้นของเสื้อโปโลมาพัฒนาต่อ กลายเป็นเสื้อเชิร์ตคอปก แบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน โดยพวกเขาให้นิยามเสื้อตัวนี้ว่า "เสื้อที่ยอดเยี่ยมที่สุด ที่มาจากการลอกเลียนแบบเสื้อตัวอื่น" อย่างไรก็ตาม เมื่อออกวางจำหน่ายเสื้อเชิร์ต แบรนด์ Brooks Brothers กลับตั้งชื่อให้กับสินค้าของพวกเขาว่า "เสื้อโปโล"
ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 20 เสื้อโปโลจึงมี 2 ประเภทบนโลก … หนึ่งคือเสื้อโปโลแบบดั้งเดิม ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเสื้อที่ใช้สำหรับเล่นกีฬาโปโล และสองคือเสื้อโปโลแบบสหรัฐอเมริกา หรือเสื้อเชิร์ตในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเสื้อแฟชั่น ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ได้รับความนิยมอย่างมาก
กว่าชาวอเมริกัน จะได้รับรู้ว่า เสื้อโปโลที่พวกเขารู้จัก เป็นของปลอมทำเหมือน ต้องรอถึงช่วงทศวรรษ 1920s หลังจาก ฌอง เรเน ลาคอสต์ นักเทนนิสดาวรุ่งพุ่งแรง หันมาหยิบเสื้อโปโลแบบอังกฤษ ลงสนามแข่งขันเทนนิส
Photo : poloweekly.com
เมื่อเขากลายเป็นทั้งแชมป์ เฟรนช์ โอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอส โอเพน รวมเป็นแชมป์แกรนด์สแลม 7 รายการ ในฐานะนักเทนนิสเดี่ยว (นอกจากนี้ยังเป็นแชมป์แกรนด์สแลม ในประเภทคู่อีก 3 รายการ) ทำให้เสื้อโปโลดังเป็นพลุแตกไปทั่วโลกทันที เพราะชื่อเสียงของเขา
นอกจากนี้ ลาคอสต์ยังมีความเป็นเจ้าพ่อแฟชั่นอยู่ในตัว การใส่เสื้อโปโลลงสนามแข่งเทนนิสของเขา ไม่ได้ทำให้เสื้อโปโลเหมือนเสื้อกีฬาแม้แต่น้อย แต่กลายเป็นเสื้อแฟชั่น ที่ดูหรูหรา มีสไตล์ขึ้นมาในทันที
อันที่จริง เหตุผลที่ลาคอสต์ จับเสื้อโปโลมาใส่เล่นเทนนิส ไม่ได้เป็นเพราะ เขาเห็นว่าเสื้อโปโล ดูดีหรือมีระดับ เป็นแฟชั่นอะไรทั้งสิ้น แต่เขามองว่าเสื้อโปโลจะช่วยให้เขาเล่นเทนนิสได้ดีขึ้น เพราะทำให้เขาเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว และระบายอากาศได้ดี เหมือนกรณีของนักโปโลไม่มีผิด
อย่างไรก็ตาม เป็นตัวของลาคอสต์ ที่พัฒนาเสื้อโปโล จากการเป็นเสื้อกีฬา ให้กลายเป็นเสื้อแฟชั่น เพราะเขาคือนักกีฬารุ่นบุกเบิก ที่ผลิตเสื้อผ้าใส่ลงสนามด้วยตัวเอง และสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมา เพื่อขายสินค้าแบบที่เขาใส่ลงสนาม ให้กับแฟนกีฬา ในปี 1929 ซึ่งพัฒนาเป็นแบรนด์ Lacoste แบบที่เราคุ้นเคยกันดี ในปัจจุบัน
Photo : sportstylefashion.com
แม้จะได้รับเสียงต่อต้าน จากเหล่านักเทนนิสอนุรักษ์นิยม ถึงการหากินกับการขายเสื้อผ้า แต่ด้วยอิทธิพลของลาคอสต์ เสื้อของเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เสื้อโปโลกลายเป็นไอเท็มยอดนิยม และถ้าจะให้เท่ ต้องใส่เสื้อของลาคอสต์เท่านั้น
ลาคอสต์ครองตลาดเสื้อโปโลอย่างเข้มแข็ง และครองตลาดทั่วยุโรปตะวันตก ที่นิยมเสื้อโปโลอย่างมาก อย่างไรก็ตาม กว่าเสื้อโปโลจะเจาะตลาดสหรัฐอเมริกา ได้อย่างจริงจัง ต้องรอถึงยุค 50s เพราะเสื้อโปโลก่อนหน้านี้ ถูกผลิตเป็นสีขาวเพียงสีเดียว เพื่อเจาะตลาดสหรัฐฯ Lacoste จึงจำเป็นต้องเริ่มผลิตเสื้อโปโลสีอื่นขึ้นมา แน่นอนว่า ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จากสาวกแฟชั่นชาวอเมริกัน
เสื้อที่ใครๆ ก็ใส่ได้
ยุค 50s ถือเป็นยุคทองอย่างแท้จริง ของเสื้อโปโล เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน กับการขยายตลาดของ Lacoste คือการกำเนิดแบรนด์เสื้อโปโล ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ Lacoste อย่าง Fred Perry
Photo : https://ift.tt/29VZdhc
ทั้งสองแบรนด์ได้ดำเนินแนวทางแบบเดียวกัน คือการเปลี่ยนเสื้อโปโล ให้แปรสภาพจากเสื้อของชนชั้นสูง อันเป็นผลพวงมากจากความโด่งดังของ ฌอง เรเน ลาคอสต์ ที่ทำให้เสื้อโปโลกลายเป็นที่นิยมของคนรวย เพราะเทนนิสคือกีฬายอดนิยมของคนรวย ให้กลายเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ได้ในทุกๆวัน
Lacoste และ Fred Perry วางจำหน่ายเสื้อโปโลที่มีราคาถูกลง ลดความหรูหราของเสื้อ และเพิ่มความเรียบง่ายเข้าไป และโปรโมทขายเสื้อโปโล ในฐานะเสื้อผ้าแฟชั่นแนวสปอร์ต ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกแฟชั่นที่พัฒนาจากเสื้อผ้ากีฬา ให้กับโลกใบนี้
หากจะถามว่าแบรนด์ไหน ประสบความสำเร็จมากกว่ากัน คงต้องจิ้มไปที่ Fred Perry เพราะพวกเขาหวังเจาะตลาด ทำเสื้อโปโลขายให้กลุ่มวัยรุ่นตั้งแต่แรก และพวกเขาทำสำเร็จ เด็กวัย 18 ถึง 30 ปีที่อังกฤษ ในช่วงยุค 50s ใส่เสื้อโปโลของ Fred Perry เดินกันเต็มบ้านเต็มเมือง
Photo : https://ift.tt/1BoM6Zx
นอกจากนี้ ความรุ่งเรืองของเสื้อโปโลในยุค 50s ทำให้ชาวอเมริกัน หันมาเรียกเสื้อโปโลแท้จากยุโรป ว่าเสื้อโปโล และใส่เสื้อโปโลกันอย่างจริงจัง ส่วนเสื้อโปโลแบบอเมริกัน ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเสื้อเชิร์ต แบบในปัจจุบัน
ความนิยมของเสื้อโปโลในสหรัฐฯ นำไปสู่การกำเนิดแบรนด์ Ralph Lauren ในปี 1967 ที่ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์เสื้อโปโลอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ในยุค 70s และโด่งดังจนถึงขั้นบุกไปตีตลาดฝั่งยุโรป จนแตกกระจาย การมีคู่แข่งจากฝั่งอเมริกา ยิ่งทำให้เสื้อโปโลกลายเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมต่อเนื่อง ในฐานะเสื้อผ้าแฟชั่น
เสื้อโปโลกลายเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ ของความดูดี มีสไตล์ ที่ไม่แฟชั่นจนเกินไป แต่ถึงจะเรียบง่าย ความดูดีของเสื้อโปโล ไม่เคยรอดผลสายตาเหล่าศิลปิน นักดนตรี ที่นำเสื้อโปโล ไปต่อยอดให้กลายเป็นเสื้อแฟชั่นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่แรปเปอร์ ที่สหรัฐอเมริกา ช่วงยุค 80s
เสื้อโปโล เริ่มต้นในฐานะเสื้อกีฬา ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเสื้อแฟชั่น สำหรับแบรนด์เสื้อดัง ซึ่งกว่าเสื้อโปโลจะเลี่ยนเป็นเสื้อผ้า ที่สามารถหาซื้อได้ตามตลาดหรือร้านทั่วไป ต้องรอถึงยุค 90s เพราะเมื่อโลกก้าวไกลมากขึ้น การผลิตเสื้อผ้าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ที่ไหนก็ผลิตเสื้อโปโลได้ ทำให้เสื้อโปโล เริ่มลดจากการเป็นเสื้อแฟชั่น กลายเป็นเสื้อผ้าทั่วไป
Photo : Shahstyle
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมองเสื้อโปโลเป็นอย่างไร เราคงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า นี่คือเสื้อสุดเอนกประสงค์ ที่มีคุณประโยชน์มากมาย ใส่เล่นกีฬาก็ได้, ใส่เพื่อเป็นแฟชั่นก็ดี หรือจะใส่ทำงานในชีวิตประจำวันก็เยี่ยมยอด
ดังนั้นแล้ว หากคุณยังไม่มีเสื้อโปโลติดตู้เสื้อผ้า เราแนะนำให้คุณซื้อมาติดตู้ไว้สักตัว รับรองไม่มีผิดหวัง
แหล่งอ้างอิง
https://ift.tt/2CxAsYo
https://ift.tt/2J4qwn1
https://ift.tt/2LnbFET
https://ift.tt/3hnnL13.
"ที่มา" - Google News
July 21, 2020 at 07:00PM
https://ift.tt/2ZPDRuB
ทหาร-โปโล-เทนนิส : รู้จักกับที่มา 'เสื้อโปโล' สุดยอดเครื่องแต่งกายที่ใครใส่ก็ดูดี - TrueID - Sport
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi
No comments:
Post a Comment