Pages

Wednesday, June 10, 2020

ทูตจีนเล่าเรื่องที่มา กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง - ไทยโพสต์

kerisasakti.blogspot.com


    รักษาการเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “หยางซิน” มาร่วมคุยใน Suthichai Live เมื่อสัปดาห์ก่อนประเด็นเรื่องกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงที่เพิ่มผ่านสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ที่ปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
    สหรัฐฯ และยุโรปหลายชาติ รวมถึงแคนาดาและออสเตรเลียออกแถลงการณ์ร่วมวิพากษ์ว่านี่เป็นความพยายามของจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะ “กลืน” ฮ่องกง และจะทำให้เกาะแห่งนี้หมดความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง
    โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ บอกว่า การที่ออกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้หลักการ “หนึ่งประเทศสองระบบ” กลายเป็น “หนึ่งประเทศหนึ่งระบบ”
    สหรัฐฯ จะยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนของฮ่องกงที่สหรัฐฯ มอบให้เกาะแห่งนี้มายาวนาน
    ท่านทูตหยางซินแย้งว่า
    “เกือบทุกประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ เองมีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติทั้งสิ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีกฎหมายทำนองนี้หลายสิบฉบับ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9/11 
    “ฮ่องกงไม่เคยมีกฎหมายสำหรับดูแลความมั่นคงแห่งชาติ เพราะตามกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ของฮ่องกงนั้น ได้มอบหมายอำนาจจากรัฐบาลกลางให้เขตปกครองพิเศษฮ่องกงตรากฎหมายเองว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ 
    “แต่หลังจากฮ่องกงได้คืนสู่มาตุภูมิ 23 ปีแล้วก็ไม่มีกฎหมายทำนองนี้ จริงๆ แล้วรัฐบาลกลางมีความอดทนและให้การเคารพต่อรัฐบาลท้องถิ่นของฮ่องกง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าเราต้องรีบมีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ...เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ใช่มีแต่การประท้วงธรรมดา แต่มีคนไปเผาธงชาติจีน มีคนเรียกร้องแบ่งแยกดินแดนให้ฮ่องกงเป็นเอกราช และได้บุกเข้าไปในที่ทำการของสำนักงานผู้แทนรัฐบาลกลางประจำฮ่องกง และได้เข้าไปในที่ทำการของสภานิติบัญญัติของฮ่องกงและทำลายตราแผ่นดินจีนด้วย แสดงว่าเป็นการท้าทายหลักการหนึ่งประเทศสองระบบ และสร้างความเสียหายให้กับความมั่นคงของจีน จึงต้องมีการตั้งกฎใหม่”
    ผมถามว่ามีคนวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้ละเมิดหลักการ “หนึ่งประเทศสองระบบ” ใช่หรือไม่ ท่านทูตหยางซินตอบว่า
    “ไม่ใช่ครับ ถ้าอ่านกฎหมายตามตัวอักษรจะทราบว่าในโลกนี้คงไม่มีประเทศไหนนอกจากประเทศจีนที่อยากเห็นความสำเร็จของฮ่องกงภายใต้หนึ่งประเทศสองระบบ”
    ท่านทูตเล่าย้อนประวัติศาสตร์ถึง “สงครามฝิ่น” ในปี 1840 ระหว่างอังกฤษกับจีนในยุคราชวงศ์ชิง จีนแพ้ ทำให้มีการลงนามสนธิสัญญานานกิง 
    หนึ่งในเงื่อนไขคือจีนยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ
    หลังจากนั้นอีก 20 กว่าปี เกิดสงครามรอบสอง อังกฤษกับฝรั่งเศสรบกับจีน ราชวงศ์ชิงก็พ่ายแพ้อีกรอบ มีการลงนามในสนธิสัญญาปักกิ่ง อังกฤษได้คาบสมุทรเกาลูน    
    เกิดสงครามครั้งที่สาม อังกฤษเช่า New Territories ของฮ่องกง สัญญาเช่า 99 ปี
    “รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนเห็นว่าเป็นสัญญาไม่ชอบธรรม ไม่ยอมรับ ตามกฎหมายระหว่างประเทศสนธิสัญญาใดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ลงนามภายใต้การคุกคาม ถือว่าเป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม จีนจึงเรียกคืนเกาะฮ่องกงทั้งหมดจากอังกฤษ...”
    จีนกับอังกฤษเริ่มเจรจากันในปี 1982 นายกฯ อังกฤษขณะนั้นคือ มาการ์เร็ต แทชเชอร์ ซึ่งได้เจรจากับเติ้ง เสี่ยวผิง และจีนยืนยันว่าเวลาการคืนเกาะฮ่องกงในปี 1997 ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะเจรจาได้ อังกฤษต้องคืนฮ่องกงให้จีน
    มีการเจรจาระหว่างสองประเทศในเรื่องนี้ถึง 22 รอบ ถึงวิธีการส่งเกาะฮ่องกงคืนให้จีน
    อังกฤษต่อรองว่าจะคืนเกาะฮ่องกงให้จีน แต่ขอให้อังกฤษปกครองต่อ จีนไม่ยอม
    อังกฤษขอให้จีนอย่าส่งทหารไปประจำฮ่องกง เติ้งก็ไม่ยอม ถือว่านั่นเป็นสิทธิตามหลักอธิปไตย
    จีนบอกว่ายังเคารพในความเป็นฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุน จึงเป็นที่มาของหลักการ “หนึ่งประเทศสองระบบ” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
    ตามข้อตกลงนี้รัฐบาลกลางของจีนเคารพในการใช้ระบบทุนนิยมของฮ่องกงต่อไปอีก 50 ปี แต่ในเรื่องต่างประเทศและการทหารเป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง
    “เราจึงมีตัวแทนของรัฐบาลกลางด้านต่างประเทศและทหารที่ฮ่องกง” ท่านทูตเล่า
    “และความมั่นคงก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลาง แต่รายละเอียดของการบริหารด้านความมั่นคง รัฐบาลกลางมอบให้คนฮ่องกงจัดการเองมาตลอด...”
    ท่านทูตบอกว่าคงมีคนอยู่เบื้องหลังคนฮ่องกงที่ไปปลุกระดมต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้
    “จริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือข้อตกลงของสภาประชาชนแห่งชาติครั้งนี้ และอีกด้านหนึ่งคือกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังจะร่าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกัน, ปราบปรามและหยุดยั้งกิจกรรมที่มีผลต่อความมั่นคงแห่งชาติอย่างร้ายแรง เช่น การกบฏหรือแบ่งแยกดินแดน”
    ท่านทูตหยางซินยืนยันว่า คนฮ่องกงทั่วไปจะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายใหม่นี้แต่อย่างใด
    “หลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้ว สิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกงในการชุมนุม ประท้วง แสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อไม่เปลี่ยนเลย ไม่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ แต่มีคนมาบอกว่ากฎหมายฉบับนี้น่ากลัว คนฮ่องกงจะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง...”
    ท่านทูตเล่าว่าผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง แคร์รี หล่ำ ได้เขียนข้อความเกี่ยวกับคำกล่าวของเติ้ง เสี่ยวผิง ตอนที่พบกับสมาชิกคณะกรรมการร่างกฎหมายพื้นฐาน
    “ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ได้กล่าวไว้เมื่อ 40 กว่าปีก่อนว่า หลังจากฮ่องกงกลับคืนมาจีนแล้ว ถามว่าคนฮ่องกงจะสามารถด่าจีนได้ไหม ท่านเติ้งตอบว่าด่าได้...เป็นเสรีภาพของเขา...แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาลกลางเท่านั้นเป็นพอ”
    ท่านทูตยืนยันว่ากฎหมายฉบับใหม่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง 3 ประเด็น คือ
    1.เรื่องความมั่นคงและการปกป้องอธิปไตย รวมถึงผลประโยชน์ของการพัฒนาของจีน
    2.นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ
    3.นโยบายของรัฐบาลจีนในการต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง
            (พรุ่งนี้ : จีนไม่อยากให้ไทยต้องลำบากใจ)

Let's block ads! (Why?)



"ที่มา" - Google News
June 11, 2020 at 12:02AM
https://ift.tt/3cO5043

ทูตจีนเล่าเรื่องที่มา กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง - ไทยโพสต์
"ที่มา" - Google News
https://ift.tt/2ZXuIAi

No comments:

Post a Comment